MGR Online - ราชทัณฑ์นั่งไม่ติด หลังโซเชียลกระหน่ำไทยติดอันดับ 10 คุกโหด เผย ข้อมูลล้าหลัง และไม่มีหลักเกณฑ์ที่น่าเชื่อถือ ยืนยันคุกไทยก้าวหน้ากว่าล้าหลัง ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากลตั้งแต่ปี 2500 จนถึงข้อกำหนดแมนเดลา ปี 2558
สืบเนื่องจากกรณีเว็บไซต์ therichest.com จัดอันดับ 10 เรือนจำโหดร้ายที่สุดในโลก โดย เรือนจำกลางบางขวาง ของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี ได้รับขนานนามเป็น ฮิลตันแห่งกรุงเทพฯ ติดอันดับที่ 10 ระบุว่า มีการทำร้ายร่างกายนักโทษ อีกทั้งนักโทษยังต้องอยู่ในพื้นที่แคบๆ แออัด ต้องใส่โซ่ตรวนที่ขาใน 3 เดือนแรกที่เข้าสู่การจองจำ
วันนี้ (4 พ.ค.) กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงเรื่องดังกล่าว ระบุว่า “ตามที่เว็บไซต์ Voicetv ได้ลงข่าวการจัดอันดับ 10 เรือนจำที่โหดร้ายมากที่สุดในโลก ซึ่งเรือนจำกลางบางขวางของประเทศไทย ติดอันดับ 10 โดยกล่าวว่า เรือนจำกลางบางขวางได้รับการขนานนามว่า เป็น ฮิลตันแห่งกรุงเทพฯ มีการทำร้ายร่างกายผู้ต้องขัง มีความแออัด และมีการใส่ตรวนผู้ต้องขังใน 3 เดือนแรก ทำให้เรือนจำกลางบางขวาง กลายเป็นเรือนจำที่มีความโหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ขอชี้แจงว่า การจัดอันดับนี้เป็นข้อมูลที่มาจากการบอกเล่าปากต่อปากที่เป็นตำนานมากกว่าข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างเช่น เรือนจำอัลคาทราซ (Alcatraz) ของ สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการดำเนินงานไปตั้งแต่ปี 2506 แต่ก็ยังนำมาจัดอยู่อันดับที่ 7 และคาดว่า หลายเรือนจำในการจัดอันดับนี้ ได้มีการยกเลิกการดำเนินงาน หรือปรับปรุงการดำเนินงานไปแล้ว และการที่ขนานนามว่า เรือนจำกลางบางขวางเป็น ฮิลตันแห่งกรุงเทพฯ เป็นคำบอกเล่าของผู้ต้องขังชาวต่างประเทศที่พ้นโทษจากเรือนจำกลางบางขวางไปนานกว่า 15 ปีแล้ว และมีผู้นำไปเขียนเป็นนวนิยาย ซึ่งมีการเสริมแต่งให้เรื่องมีความน่าตื่นเต้นไปกว่าข้อเท็จจริง
ในส่วนของการใช้เครื่องพันธนาการซึ่งแต่เดิมเป็นการใช้ตรวน ต่อมาในปี 2555 ได้มีการเปลี่ยนเป็นกุญแจมือ กุญแจเท้า และยกเลิกการใช้เครื่องพันธนาการภายในเรือนจำตั้งแต่ปี 2556 ปัจจุบันการใช้เครื่องพันธนาการจะใช้เฉพาะกรณีนำผู้ต้องขังไปศาล หรือย้ายเรือนจำ เพื่อป้องกันการหลบหนี
นอกจากนี้ ในเรื่องของสภาพความเป็นอยู่ที่มีการกล่าวหาว่าเรือนจำกลางบางขวาง มีความแออัด และมีการทุบตีผู้ต้องขังนั้น เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นในลักษณะนวนิยายปราศจากข้อเท็จจริง ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้มีการดำเนินงานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมาโดยตลอด จนเมื่อองค์การสหประชาชาติได้มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังขึ้น (Standard Minimum Rules of the Treatments to Prisoners หรือ SMR) ในปี 2500 ประเทศไทยก็ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวอย่างครบถ้วน และมีการยกระดับมาตรฐานเรื่อยมา จนเป็นข้อกำหนดแมนเดลา (Mandela Rules) ในปี 2558 อีกทั้งประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มให้องค์การสหประชาชาติกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง (The Bangkok Rules) ตั้งแต่ปี 2553 จึงถือได้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้าประเทศหนึ่งในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง ดังนั้น เรื่องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่กล่าวอ้างโดยใช้ข้อมูลจากนวนิยายมากกว่าข้อเท็จจริง”