MGR Online - ศาลแพ่งพิพากษาสั่ง “ศิริโชค โสภา” ชดใช้เงิน 2 ล้าน ให้นักธุรกิจตระกูลดัง “สีหนาทกถากุล” เหตุโพสต์เฟซบุ๊กกล่าวหาหมิ่นโกงเงินกู้
ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (27 เม.ย.) ศาลมีคำพิพากษาในคดีที่ นายอนุชา สีหนาทกถากุล นักธุรกิจตระกูลดัง เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายศิริโชค โสภา อดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยในคดีละเมิดเรียกค่าเสียหาย 20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากกรณีหมิ่นประมาท
โดยฟ้องโจทก์ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค.- 26 ต.ค. 2558 นายศิริโชค จำเลยได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายฝ่าฝืนต่อความจริงด้วยการใส่ความ นายมนตรี บิดาโจทก์ ด้วยการโพสต์เฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และเป็นการแพร่หลายทั่วประเทศ ซึ่งการกระทำของจำเลยทำให้บุคคลอื่นและประชาชนทั่วไป เข้าใจว่า บิดาโจทก์กระทำผิดต่อกฎหมายและหลอกลวงโกงมารดาของจำเลย กับบุคคลอื่นๆ โดยการกระทำนั้นทำให้โจทก์และบุคคลในครอบครัวได้รับความเสียหาย รวมทั้งกระทบต่อธุรกิจของโจทก์อย่างร้ายแรง จึงขอให้จำเลยชำระเงิน 20 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ
ขณะที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า ไม่ได้เป็นผู้ใส่ความ หรือนำข้อมูลตามที่โจทก์กล่าวหา เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และบัญชีเฟซบุ๊กนั้นก็ไม่ใช่ของจำเลย
ศาลแพ่งพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ Sirichok Sopha มีที่อยู่ของเว็บไซต์บนอินเตอร์เน็ต หรือ URL เป็นของจำเลย และจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความโดยนำเอกสารที่เขียนด้วยลายมือ มาลงประกอบ การที่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวโดยมีใจความสำคัญว่า บิดาโจทก์โกงมารดาจำเลย หลอกให้มารดาจำเลยกู้เงินแล้วไม่ได้รับเงินกู้ ทั้งที่จำเลยทราบเรื่องดีอยู่แล้วว่าข้อพิพาทระหว่างมารดาจำเลย กับ บิดาโจทก์ตามสัญญากู้เงินได้ยุติลงไปแล้ว เนื่องจากมารดาจำเลยชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้บิดาโจทก์ถอนฟ้องคดีแล้ว จึงเป็นการไขข่าวแพร่หลายซึ่งฝ่าฝืนต่อข้อความเป็นจริง ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงและเกียรติยศของบิดาโจทก์ และโจทก์ซึ่งเป็นบุตร
แม้ข้อความบางส่วนที่จำเลยนำมาโพสต์ในเฟซบุ๊กจะนำมาจากข้อความในเอกสารที่จำเลยอ้างว่าเป็นลายมือเขียนของบุคคลอื่น แต่เมื่อข้อความนั้นฝ่าฝืนต่อความจริง การกล่าวหรือไขข่าวซ้ำก็เป็นการกระทำละเมิด อีกทั้งข้อความที่จำเลยโพสต์นั้นไม่ใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทำให้ได้รับความเสียหาย
ศาลแพ่งจึงมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย