MGR Online - กองปราบไล่บี้ตามรวบ “ซินแสโชกุน” ขณะเตรียมหนีข้ามด่านที่ระนอง คุมตัวเข้า กทม. สอบปากคำ ด้าน ผบช.ก.ชี้ "ข้อหาฉ้อโกง"ยอมความไม่ได้ จ่อยึดทรัพย์คืนผู้เสียหาย เผยประวัติแสบเปลี่ยนชื่อนามสกุลกว่า 10 รอบ ใช้จดทะเบียนบริษัท
วันนี้ (12 เม.ย.) ที่ กองปราบปราม เมื่อเวลา 10.00 น. พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. พล.ต.ต.กรเอก เพชรไชยเวส รอง ผบช.ก. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี ผบก.ปคบ. พล.ต.ต.ประเสริฐ เงินยวง ผบก.ทท. พ.ต.อ.ชาคริต สวัสดี รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ศิร์ธัชเขต ครูวัฒนเศรษฐ์ พ.ต.อ.สมควร พึ่งทรัพย์ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.อาชยน ไกรทอง รอง ผบก.ทท. พ.ต.อ.นิธิธร จินตการนนท์ รอง ผบก.ทท. พ.ต.อ. บัณฑิต ทิศาภาค รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.เกื้อกมล ดวงประทีป ผกก.1 บก.ทท. พ.ต.ท.อภิเษก ปิศโน สว.กก.6 บก.ทท. พร้อมด้วยพนักงานสอบสวนกองปราบปราม พนักงานสอบสวน บก.ปคบ. และตำรวจท่องเที่ยว ประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีกับ น.ส.พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ศรัณย์พัชร์ กิติขจรพัชร์ หรือ ซินแสโชกุน และกลุ่มขบวนการแชร์ลูกโซ่ บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด (WealthEver) ที่ลอยแพลูกทัวร์กว่า 2,000 คน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อคืนที่ผ่านมา
โดยมีรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ตำรวจ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้ควบคุมตัวหัวหน้ากลุ่มแชร์ลูกโซ่ บริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด (WealthEver) จำนวน 2 ราย มาสอบปากคำ โดยเบื้องต้นหญิงทั้งสองรายปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ ก่อนที่จะเผยสั้นๆ ว่า เป็นสมาชิกของบริษัทดังกล่าวจริง ซึ่งในระหว่างที่ตนเป็นสมาชิกไม่เคยเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าว โดยก่อนที่จะมาขายทัวร์นั้น ตนได้ซื้อสินค้าและได้รับรางวัลเป็นแพกเกจในการเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ไปจริง จากนั้นจึงกลับมารับกลุ่มผู้เสียหายทั้งหมด เพื่อเดินทางกลับไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น แต่เมื่อมาถึงวันเดินทางกลับพบปัญหาดังกล่าว
ด้าน พล.ต.ท.ฐิติราช เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้เดินทางมาติดตามและวางกรอบแนวทางในการทำคดี พร้อมกำกับควบคุมการสอบปากคำผู้เสียหายและสอบปากคำผู้ต้องสงสัย 2 ราย ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มบริษัทแชร์ลูกโซ่ พร้อมทั้งวางแผนแนวทางการทำงานเพื่อติดตามจับกุมหัวหน้าขบวนการเจ้าของบริษัทดังกล่าว จากการตรวจสอบขณะนี้ พบว่า เคยมีประวัติการก่อคดีในลักษณะนี้ และเคยถูกออกหมายจับ 3 - 4 หมาย แต่ต่อมาถอนหมายจับไป เพราะมีการชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นคดีลักษณะเดียวกัน มีแผนประทุษกรรมคล้ายกัน
นอกจากนี้ ยังพบว่า ตัวของซินแสโชกุนมีการเปลี่ยนชื่อสกุลมาแล้วกว่า 10 ครั้ง เพื่อเปิดและจดทะเบียนบริษัท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีต่อ โดยมีหน่วยงานหลักรับเรื่อง คือ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจกองปราบปราม ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับผู้บริโภค และตำรวจประจำสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตั้งแต่เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียหายมาแสดงตัวเบื้องต้น 470 คน และจะมีมากกว่านี้
“คดีนี้ผู้เสียหายที่อยู่ในต่างจังหวัด ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่กองปราบฯ ก็ได้ โดยสามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ได้ในพื้นที่สถานีตำรวจในภูมิลำเนาของตนเอง หลังจากนี้ ตนจะเสนอไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการรวบรวมสำนวนมาไว้ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำงาน เนื่องจากคดีนี้ เพระเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงประชาชนที่มีผู้เสียหายมากกว่า 10 คน สำหรับมาตรการหลังจากนี้ จะเร่งติดตามยึดทรัพย์เพื่อนำเงินทั้งหมดมาชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหาย ซึ่งที่ผ่านมาคดีในลักษณะนี้จะมีการยอมความกันได้ แต่สำหรับคดีนี้จากการสอบปากคำผู้เสียหาย และพยานหลักฐาน พบว่า ไม่สามารถยอมความได้เพราะเป็นข้อหาฉ้อโกงประชาชน”ผบช.ก. กล่าว
ด้าน นางสาวผ่องนภา ฐิติวัชระ (ผู้เสียหาย) เปิดเผยว่า เพื่อนตนเป็นคนชักชวนให้ตนไปเที่ยวญี่ปุ่น เพราะมีโปรโมชั่นตั๋วการเดินทางที่ราคาถูกจากบริษัท เวลท์เอเวอร์ จำกัด ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ ประมาณ 10,000 - 20,000 บาท ตนจึงสนใจและโอนเงินจำนวน 10,000 บาท และมาตามเวลานัดหมาย แต่ก็ไม่พบตัวแทน และไม่มีเอกสารใดๆ มีเพียงสลิปเงินที่ตนโอนเพียงเท่านั้น ซึ่งหลังจากเกิดเหตุ ตนก็ไม่สามารถที่จะติดต่อตัวแทนหัวหน้าทีมได้อีกเลย จึงเดินทางมาแจ้งความที่กองปราบ ส่วนเพื่อนคนที่จะร่วมเดินทางที่เจอที่สนามบินสุวรรณภูมิ ก็บอกว่ายังเชื่อมั่นว่าจะได้เงินคืนจากหัวหน้าทีม จึงไม่ดำเนินการแจ้งความ
น.ส.สิริพิชชา อิงอนุรักษ์สกุล อายุ 24 ปี ผู้เสียหาย เปิดเผยว่า ของตนต่างจากคนอื่น เนื่องจากตนไม่ใช่การขายตรง แต่เป็นการขายทัวร์อย่างเดียว ซึ่งตนเป็นสมาชิกเทรดออนไลน์หนึ่ง ซึ่งสามารถใช้เทรดในการแลกซึ่งสินค้าหรือบริการต่างๆ ได้ ตนใช้เทรด 50 เปอร์เซ็นต์ และเงินสด 50 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นเงินจำนวน 30,000 บาท ในการซื้อตั๋วดังกล่าว ตนยืนยันว่า ไม่รู้จักบริษัทดังกล่าวเลย แต่จะมีแม่ข่าย ทราบชื่อ มาดาม ซู ของบริษัทดังกล่าวมาขายตั๋วในเทรดออนไลน์ดังกล่าว โดยส่วนตัวตนใช้บริการบริษัททัวร์อยู่แล้วราคาประมาณนี้ แต่ไม่เคยใช้บริการของบริษัททัวร์ เวลท์เอเวอร์ จำกัด มาก่อนแต่ลุงสนใจ เพราะเห็นว่ามีราคาที่ถูกคนละ 10,000 บาท ตนจึงตัดสินใจโอนเงินให้ลุงไป 30,000 บาท และไม่ทราบว่าการโอนเงินจ่ายค่าทัวร์คือ การสมัครสมาชิก ทั้งนี้ เมื่อโอนเงินเรียบร้อยจะมีแม่ข่ายติดต่อเข้าไปยังกลุ่มทัวร์ โดยมีลูกทัวร์จำนวน 60 คน ที่อยู่ในความดูแลของแม่ข่ายนั้น แม่ข่ายจะทำหน้าที่แจ้งนัดสถานที่ เอกสารต่างๆ การเตรียมตัวในการเดินทาง จากนั้นเมื่อมาถึงสนามบินเมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 11 เมษายน จะเข้าเช็กอินก็ไม่สามารถเช็กอินได้ จึงได้ติดต่อแม่ข่ายได้อยู่ แต่อ้างว่าจะมีการเลื่อนไฟลต์ต่างๆ ตนจึงตัดสินใจสอบถามทางการท่าฯ จึงรู้ว่าไม่มีการจองทัวร์ดังกล่าว
ต่อมาเวลา 13.00 น. ภายหลังการประชุมวางแนวทางในการดำเนินคดีกับซินแส โชกุน และการเยียวยาช่วยเหลือเหยื่อ ซึ่งใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 2 ชม. พล.ต.ต.ฐิติราช ได้เรียกผู้เสียหายเพื่อพูดคุยทำความเข้าใจถึงแนวทางการทำงาน พร้อมเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบพบว่า มีผู้เสียหายอยู่ทั่วประเทศ แต่ขอรวบรวมรายละเอียดข้อเท็จจริงให้เรียบร้อยเสียก่อนว่า มีบุคคลใดเกี่ยวข้องบ้าง และจะพยายามนำเงินมาคืนผู้เสียหายให้มากที่สุด และจะทำการติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาให้ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ต้องชี้แจงว่า หัวหน้าข่ายไม่สามารถคืนเงินให้ผู้เสียหายได้ เพราะตัวหัวหน้าข่ายก็เป็นผู้เสียหายที่โดน นางสาว พิสิษฐ์ อริญชญ์ลาภิศ หรือ ซินแสโชกุน กรรมการบริหารบริษัท เวลท์เอเวอร์ หลอกเช่นกัน ขณะนี้ตำรวจได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้ตรวจสอบเส้นทางทางการเงิน และขยายผลว่า มีผู้ร่วมขบวนการ หรือมีผู้บงการอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เบื้องต้นแจ้งข้อหาฉ้อโกงประชาชน เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์สินของ ซินแสโชกุน มาเฉลี่ยคืนผู้เสียหายทุกคนให้ได้ โดยประเมินความเสียหายไว้ที่ประมาณ 20 ล้านบาท จากการตรวจสอบพฤติการณ์พบว่า ซินแสโชกุน ได้ก่อเหตุในลักษณะดังกล่าวมาหลายครั้ง และใช้รูปแบบเดิมในการก่อเหตุ เปลี่ยนเพียงชื่อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้เสียหายเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ส่วนบุคคลใดที่ไม่ประสงค์เข้าแจ้งความ ก็จะไม่ได้สิทธิ์ทางแพ่งและไม่ได้รับเงินคืน
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า ภายหลังจากเกิดเรื่องเมื่อคืนนี้ ซินแสโชกุน ได้ส่งคลิปเสียงผ่านไลน์กลุ่ม โดยไม่ให้ผู้เสียหายแจ้งความกับตำรวจ และอ้างว่า เหตุที่ต้องยกเลิกเที่ยวบิน เกิดจากผู้เสียหายรวมตัวแจ้งความกับตำรวจ จึงส่งผลกระทบต่อสายการบิน ทำให้สายการบินไม่สามารถส่งเครื่องบินมารับผู้โดยสารได้ ซึ่งทางพล.ต.ท.ฐิติราช เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้คลิปเสียงนี้แล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะแจ้งข้อหาอื่นกับซินแสโชกุนได้อีกหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำตัว ซินแสโชกุน มาที่กองบังคับการปราบปรามภายในวันนี้ เวลา 18.00 น. อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร พบความเคลื่อนไหวของซินแสโชกุน ที่จังหวัดระนอง และอยู่ระหว่างการติดตามนำตัวมาที่กองบังคับการปราบปราม
ทั้งนี้ มีรายงานว่า จากการตรวจสอบประวัติ “ซินแสโชกุน” หรือ นางสาว พสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ หรือ ศรัณย์พัชร์ กิติขจรพัชร์ เคยถูกแจ้งความคดีเกี่ยวกับทรัพย์รวม 6 คดี หมายจับรวม 3 หมาย และเปลี่ยนชื่อนามสกุลอีก 10 ครั้ง ซึ่งถูกแจ้งความดำเนินคดีตั้งแต่ปี 2555 - 2559 รวม 6 คดี เป็นคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์ทั้งหมด ประกอบด้วย
วันที่ 20 มิถุนายน 2555 คดีฉ้อโกงทรัพย์ พื่นที่ สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, วันที่ 25 มกราคม 2557 คดีความผิดเกี่ยวกับเช็ค พื้นที่ สภ.เมืองนนทบุรี, วันที่ 21 มิถุนายน 2557 คดีฉ้อโกงทรัพย์ พื้นที่ สน.ปทุมวัน, วันที่ 29 ตุลาคม 2557 คดียักยอกทรัพย์ พื้นที่ สภ.เมืองนนทบุรี, วันที่ 3 มิถุนายน 2558 คดีฉ้อโกงประชาชน ที่กองบังคับการปราบปรามความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ., วันที่ 3 กันยายน 2559 คดีฉ้อโกงทรัพย์ พื้นที่ สภ.เมืองนครราชสีมา
โดยถูกศาลอนุมัติหมายจับกุมรวม 3 ครั้ง คือ ศาลแขวงสมุทรปราการ คดีฉ้อโกงทรัพย์ เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555, ศาลจังหวัดนนทบุรี คดีฉ้อโกงประชาชน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558, ศาลแขวงนครราชสีมา คดีฉ้อโกงทรัพย์ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 โดยทุกคดีมีการถอนหมายจับหมดแล้ว เนื่องจากมีการจับกุม หรือดำเนินคดีแล้วทั้งหมด
นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนชื่อและนามสกุล ในที่ว่าการอำเภอเมือง และอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี รวม 10 ครั้งอีกด้วย โดยมีชื่อเดิมว่า นางสาว สหชม นาคฤทธิ์ จากนั้นวันที่ 29 กันยายน 2543 เปลี่ยนชื่อ สหชม เป็น ทฤษนันท์ วันที่ 15 กันยายน 2549 เปลี่ยนชื่อ ทฤษนันท์ เป็น ณวัชกรณ์ วันที่ 1 เมษายน 2551 เปลี่ยนชื่อ ณวัชกรณ์ เป็น ศรัณย์พัชร์ วันที่ 1 เมษายน 2551 เปลี่ยนนามสกุล นาคฤทธิ์ เป็น กิติขจรพัชร์ วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เปลี่ยนชื่อ ศรัณย์พัชร์ เป็น ภวิศ วันที่ 26 กันยายน 2557 เปลี่ยนนามสกุล กิติขจรพัชร์ เป็น นาคฤทธิ์ วันที่ 29 กันยายน 2557 เปลี่ยนนามสกุล นาคฤทธิ์ เป็น ภูริภัทร์เมฆินทร์ วันที่ 7 กันยายน 2559 เปลี่ยนนามสกุล ภูริภัทร์เมฆินทร์ เป็น นาคฤทธิ์ วันที่ 8 กันยายน 2559 เปลี่ยนชื่อ ภวิศ เป็น พสิษฐ์ และ 8 กันยายน 2559 เปลี่ยนนามสกุล นาคฤทธิ์ เป็น อริญชย์ลาภิศ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตัวควบคุมตัว น.ส.พสิษฐ์ อริญชญ์ลาภิศ หรือน.ส.ศรัณย์พัชร์ กิติขจรพัชร์ หรือ ซินแสโชกุน เจ้าของบริษัทขายตรงเครือข่ายบริษัท WealthEver ที่ลวงลูกข่ายเที่ยวญี่ปุ่นในราคาถูกแล้วปล่อยลอยแพนับพันคน สร้างความอลหม่านที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อคืนที่ผ่านมา ถูกควบคุมแล้วที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง ระหว่างกำลังหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างประสานส่งตัวมากองบังคับการปราบปราม