xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึก ปมลับ : เปิดลับ สกัดบรรษัทน้ำมันฯ อาถรรพ์ ชื่อ "แห่งชาติ"เฮี้ยน!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


เรื่อง แปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นที่ประเทศไทย ถ้าคิดตั้งองค์กรหรือหน่วยงานอะไรขึ้นมาเพื่อประเทศชาติและเป็นประโยชน์กับประชาชน ที่มีชื่อลงท้ายด้วยคำว่า "แห่งชาติ" โอกาสที่จะสำเร็จนั้นยากยิ่งกว่ายาก

มักจะถูกขัดขวาง และโดนทำแท้งไปก่อนคลอดเสมอ ล่าสุดก็เกิดอุบัติเหตุกับการจัดตั้ง "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ"ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติถอดออกจากกฎหมายปิโตรเลียมไปเรียบร้อย

โอกาสจะเกิดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติต่อไปได้หรือไม่ ยังลูกผีลูกคน แม้ว่าจะโยกให้ไปอยู่ในข้อสังเกตุ โดยให้มีการศึกษาและนำกลับมาถกกันใหม่อีกรอบภายในเวลา1ปีก็ตาม มันก็แค่เป็นคำมั่นสัญญาที่ฟังดูดีมีหลักการ แต่ยังไม่รู้ข้างหน้าจะเจอกลยุทธ์อะไรอีก

เหมือนคราวนี้เกมลบข้อบัญญัติ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ออกจากมาตรา10(1)ของพรบ. ปิโตรเลียมยังไม่รู้กี่ฝ่ายสมคบคิดกันบ้าง ภาคประชาชนอย่าง "กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย หรือ คพป." ที่ต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของคนไทยในเรื่องพลังงาน ก็มีข้อสังเกตุกับเบื้องหลังการสกัดบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่ให้เกิดขึ้น ว่า โดนกลุ่มทุนพลังงานกับลิ่วล้อจับมือกันเล่นเกมแน่ๆ

เพราะว่า ก่อนวันพิจารณากฎหมายในวาระ2และ3 มีการเคลื่อนไหวสอดคล้องประสานกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนกระทั่งถึงวันประชุมสภาสนช. ก็มีการรับลูกกันอย่างแนบเนียนเชือดนิ่มๆ ทำแท้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ วันเดียวจบข่าวไปเลย

มองกันง่ายๆ ถึงยังไงพวกกลุ่มทุนพลังงานไม่ยอมให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันขึ้นมาแน่ ขืนปล่อยให้มีขึ้นมาผลประโยชน์ที่คาดจะได้จากการเปิดประมูลบ่อน้ำมันรอบใหม่ ที่แหล่งบงกช และเอราวัณที่จะต้องที่การต่อสัญญาใหม่หลังหมดสัมปทานในอีก5/6 ปีที่จะถึง จะทำเหมือนเดิมได้ลำบาก เงินกำไรมหาศาลของทุนพลังงานจะหายไป ถ้ามีบรรษัทน้ำมันฯมาจับตาอยู่ใกล้ๆ

บรรษัทน้ำมันแห่งชาติเป็นกลไกตัวสำคัญที่จะเข้ามาบริหารจัดการกับการกำกับดูแลเอาน้ำมันมาใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะในระบบการแบ่งปันผลผลิตกับการว่าจ้างจัดการผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งสองวิธีนี้จะทำให้ประเทศได้ประโยชน์มากกว่าสัมปทานแบบเก่าที่รับค่าภาคหลวงที่เสียเปรียบกับกลุ่มทุนมาก

หากไม่มีบรรษัทมาดูแล วิธีการแบ่งปันผลผลิตกับว่าจ้างจะทำไม่ได้ หากทำได้ก็ต้องฝากให้ปตท. ดูแลที่หลิ่วตาให้กันกับกลุ่มทุนพลังงานมาตลอด ก็จะไม่ต่างอะไรกับเตะหมูเข้าปากหมา

ดังนั้นความหวังที่จะมีและใช้บรรษัทน้ำมันแห่งชาติมารักษาผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมัน ประชาชนจึงต้องติดตามสถานการณ์และร่วมกันต่อสู้เรียกร้องต่อไปด้วยใจนิ่งและแน่วแน่

ในอดีตที่ผ่านมา องค์กรที่ได้ตั้งขึ้นโดยมีคำว่า "แห่งชาติ"ต่อท้ายนั้น กว่าจะปลุกปั้นมาได้ และขับเคลื่อนได้ก็สะบักสะบอมมาด้วยกันทั้งสิ้น อย่างเช่น บริษัทปุ๋ยแห่งชาติ โครงการนี้เป็นของรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มติครม.รัฐบาลเปรมอนุมัติให้เปิดบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ เมื่อปี2525 เพื่อเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยให้กับเกษตรกรในราคาเป็นธรรม ปุ๋ยมีคุณภาพดี เป็นมิตรต่อเกษตรและสิ่งแวดล้อม

นโยบายนี้เป็นโครงการที่ดีมาก แต่พอตั้งขึ้นมาก็ถูกกลุ่มทุนนอกและในประเทศในอุตสาหกรรมและธุรกิจค้าปุ๋ยรวมหัวกับนักการเมืองเตะถ่วงรบกวนไปเรื่อยๆจนล้มแล้วล้มอีก มาลุยเดินหน้ากันได้จริงๆจังๆก็ล่วงเลยมาเป็นเวลาสิบกว่าปี เปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดแทนที่จะเป็นองค์กรของรัฐ แต่คนไทยก็เสียโอกาสที่จะผลิตและใช้ปุ๋ยแห่งชาติไป

อีกอภิมหาโครงการแห่งชาติอีกโครงการหนึ่งที่ต้องพับไป คือโครงการ "รถยนต์แห่งชาติ" โครงนี้เป็นเรื่องที่นักธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์กลุ่มหนึ่งได้คิดสร้างรถยนต์แห่งชาติขึ้นมาเมื่อราวปี2527 ได้เสนอให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือBOIพิจารณาและคณะอนุกรรมการของบีโอไอเห็นชอบด้วย เพราะเป็นประโยชน์ที่ประเทศจะได้ คือจะมีรถยนต์แห่งชาติที่เป็นหน้าตาของคนไทย เป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมรถยนต์แจ้งเกิดในบ้านเรา

ครั้งนั้น กลุ่มทุนเจ้าของรถยนต์แห่งชาติเตรียมความพร้อมทุกอย่างไว้แล้ว เฉพาะวิศวกรรมรถยนต์ได้มีการซื้อลิขสิทธิ์จากบริษัทรถเปอโยต์ของฝรั่งเศสเข้ามาเป็นรถต้นแบบ โดยใช้รุ่น305 ซึ่งเป็นรถเก๋งขนาดกลางและดีที่สุดรุ่นหนึ่งของเปอโยต์ มีข้อตกลงกับทางรัฐว่าจะขายให้คนไทยคันละ3.2 แสนบาท พร้อมกับจะผลิตเพื่อการส่งออกขายทั่วโลกด้วย

แต่ขณะที่รถยนต์แห่งชาติกำลังจะไปได้สวย ทางทุนญี่ปุ่นก็เดินใต้ดินแทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ จนโครงการนี้ถูกบอร์ดใหญ่ของบีโอไอล้มไป

ถ้าโครงการรถยนต์แห่งชาติของเราเกิดในวันนั้น ไทยจะมีรถยนต์แห่งชาติหลังรถแดวูของเกาหลีไม่กี่ปี แต่จะเกิดก่อนหน้ารถโปรตอน เซก้า รถยนต์ชาติมาเลเซียหลายปี แต่เพราะคำว่า "แห่งชาติ" วันนี้เรายังไม่มีรถยนต์แห่งชาติกับเขาสักที
กำลังโหลดความคิดเห็น