xs
xsm
sm
md
lg

แม่ยายญาติอดีตนายตำรวจใหญ่ ร้อง “ศานิตย์” คาใจคดีลูกสาวตกตึกผ่านมา 11 ปีไม่คืบ ซ้ำอัยการสั่งไม่ฟ้องสามีเก่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - แม่ยายน้องชายอดีตนายตำรวจใหญ่ ร้อง “ศานิตย์” เหตุติดใจหลายประเด็นการตายของลูกสาวตกตึกมา 11 ปี เผยหลักฐานขัดแย้งกับผลการชันสูตรพลิกศพ หลังอัยการสั่งไม่ฟ้องสามีเก่าและภรรยาเก่าสามีข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

วันนี้ (3 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ต.ชัยพร พานิชอัตรา รอง ผบช.น. พ.ต.อ.คมศักดิ์ สุมังเกษตร รอง ผบก.น.2 พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย ผกก.สน.ทุ่งสองห้อง รับหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากนางสาย ยางเยี่ยม อายุ 73 ปี พร้อมกับนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ทนายความ หลังติดใจและสงสัยการเสียชีวิตของนางภัสรัชต์ โชตเศรษฐ์ บุตรสาว การที่นายนุกูล โชตเศรษฐ์ สามี และ น.ส.ศิริ สมวงศ์ ภรรยาเก่าของนายนุกูล แจ้งต่อพนักงานสอบสวนกระโดดตึกฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2549 โดยติดใจการให้ถ้อยคำพยานหลักฐานขัดแย้งกับผลการชันสูตรพลิกศพ และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาต่อสามีเก่าผู้ตาย และภรรยาเก่าสามีผู้ตายที่อยู่ในเหตุการณ์คดีดังกล่าวในปี 2556 ที่ผ่านมา

นายอัจฉริยะกล่าวว่า กรณีที่ติดใจกรณีที่นายนุกูล สามีคนตายเป็นน้องชาย พล.ต.ท.ดำริ โชตเศรษฐ์ อดีต ผบช.ประจำสำนักงาน ประสานนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งรอง ผบช.น.ในขณะนั้น พาไปให้การต่อพนักงานสอบสวน แต่ทำไมถึงไม่ทำการช่วยเหลือผู้ตายระหว่างที่มีการพูดคุยกันพร้อมกับ น.ส.ศิริ ภรรยาเก่าไม่ได้จดทะเบียน แต่ได้ให้การว่าเห็นผู้ตายตกจากตึก 3 ชั้น ลักษณะคร่อมกำแพง เอามือดันตัวลงไป พร้อมกับได้ช่วยผู้ตายผายปอดแล้วโดยเอามือดันซี่โครง แล้วบอกว่าผู้ตายกินยาระงับประสาท แต่ผลตรวจสอบไม่พบว่ามีการกินยาระงับประสาทดังกล่าว และลางานให้ผู้ตายหลังจากเสียชีวิต 1 วัน พร้อมกับทำลายหลักฐานโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ รวมถึงเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานไม่เก็บรอยนิ้วมือแฝง โดยยังมีประเด็นที่ยังติดใจอยู่

“ทำไมผู้ตายจะฆ่าตัวตายไม่กระโดด แต่นั่งเอาขาคร่อมกำแพง นอกจากนี้คำให้การของเด็กชายผู้เห็นเหตุการณ์ที่เห็นว่านั่งอยู่บนระเบียง แต่ไม่ได้เห็นตอนตกลงมา แต่พอให้การในชั้นพนักงานอัยการกลับบอกว่าไม่เห็น รวมทั้งผลทางนิติวิทยาศาสตร์เห็นว่าตกจากชั้น 3 ต้องมีบาดแผลที่ขา ไม่ปรากฏว่ามีบาดแผล มีข้อมือขวาหัก และเลือดคั่งที่ปอด และน่าจะมีลักษณะนอนหงาย ไม่ใช่การนอนตะแคงหันข้าง โดยที่นายนุกูลเป็นผู้พาคนตายพามาคุยกับ น.ส.ศิริ จึงอยากขอความเป็นธรรมทางเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การช่วยเหลือเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมจากประเด็นข้อสงสัย” นายอัจฉริยะกล่าว

ด้าน พ.ต.อ.มานะกล่าวว่า คดีดังกล่าวอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องและแจ้งให้ทางญาติทราบ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิผู้เสียหาย ทางกฎหมายสามารถฟ้องร้องได้เองตาม ป.วิอาญา ม.34 เมื่อฟ้องเองใช้สิทธิตามวิอาญา ม.28 (2) ศาลจะต้องดำเนินการนัดไต่สวนมูลฟ้อง เพราะไม่ใช่เป็นการฟ้องของอัยการตาม ป.วิอาญา ม.162 (1) ก็ต้องป้อนพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไป เพื่อให้มีมูลประทับรับฟ้อง เมื่อประทับรับฟ้อง สมมติศาลประทับรับฟ้อง ผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยศาลก็ตกเป็นจำเลย ก็ต้องสู้คดีกันต่อ ขณะนี้เมื่ออัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องในส่วนของตำรวจหมดอำนาจการสอบสวนไป เพราะสำนวนอยู่ในมือของอัยการ ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาวันที่ 9/2481 ระบุว่า เมื่ออัยการรับสำนวนพนักงานสอบสวนจะไปทำอะไรในสำนวนไม่ได้ เว้นแต่ต้องทำตามคำสั่งพนักงานอัยการหรือกรณีผู้ต้องหาหลบหนีจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาตาม วิ.อาญา ม.134 แต่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำได้คือใช้การสืบสวน ตำรวจดำเนินการได้ตลอด สืบสวนตาม ม.2 (4) คือ การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเพื่อทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำผิด อาจจะทำเป็นหนังสือถึงผู้บังคับบัญชาสั่งการเพี่อตั้งเป็นคำสั่งคณะพนักงานสืบสวนของกองบังคับการ หรือกองบัญชาการ เพื่อหาค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น