xs
xsm
sm
md
lg

คุกเสียที 50 ปี “จุฑามาศ” ลูกด้วย 44 ปี คดีเรียกสินบนงานภาพยนตร์นานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาสั่งจำคุก “จุฑามาศ” อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 50 ปี คดีสินบนเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ปี 2546 ส่วนลูกสาวติดคุก 44 ปี



ที่ห้องพิจารณา 708 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (29 มี.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ อท.46/2559 ที่อัยการคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 70 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ อายุ 43 ปี บุตรสาว ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 ม.6,11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ม.12

อัยการโจทก์ได้นำสืบว่า ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่ามีอดีตผู้ว่าการ ททท.กับพวกทุจริตรับสินบนจากบริษัทต่างประเทศเพื่อให้ได้งานจัดงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพ จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงและมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนดีเอสไอ และการไต่สวนโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ตามคำสั่งที่ 5/2550 โดยมีการขอข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา โดยอัยการสูงสุดในฐานะผู้ประสานงานกลางตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ และนำพยานหลักฐานนั้นมาทำการสอบสวนโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทราบว่า สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา (เอฟบีไอ) สืบสวนทราบว่า นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน สามีภรรยาได้เปิดบริษัทรับจัดงานโดยเข้ารับงานจาก ททท.ในประเทศไทย มีการให้สินบนผู้บริหารระดับสูงเข้าบัญชีบุตรสาวของนางจุฑามาศ ในธนาคารของประเทศอังกฤษ และสิงค์โปร์ รวม 19 ครั้ง ตั้งแต่หลักหมื่นเหรียญถึงหลายแสนเหรียญสหรัฐเพื่อให้ได้เข้ามาจัดการงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ ปี 2546 คดีดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานละเมิดต่อรัฐด้วยการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ ปี ค.ศ.1977 ศาลแคลิฟอร์เนียมีคำพิพากษาให้จำคุกไปแล้ว

ทั้งนี้ มีรายละเอียดว่า การเรียกสินบนหลายครั้ง จำเลยที่ 1 ใช้กระดาษมีหัวจดหมาย ททท.ให้นายกรีน ส่งเงินเข้าบัญชี รวม 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อแลกกับการรับงานมูลค่า 14 ล้านเหรียญจาก ททท. บางครั้งมีการจ่ายผ่านธนาคาร บางครั้งจ่ายโดยตรงด้วยแคชเชียร์เช็ค และเงินสด ต่ำสุด 300 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช.ได้นำข้อมูลมาไต่สวนพยานบุคคล 20 ปาก กับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สอบสวนข้อมูลเกี่ยวกับการให้สินบนจากต่างประเทศเพื่อให้สอดรับกับข้อมูลที่ได้รับมา จึงพบหลักฐานการโอนเงินต่างๆ และสั่งฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้

โดยวันนี้ อัยการโจทก์ นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 และ น.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ บุตรสาว จำเลยที่ 2 พร้อมทนายความเดินทางมาศาล

องค์คณะผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ โดยศาลเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การจัดจ้างโครงการเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพ มีการกำหนดเงื่อนไขโดยวิธีตกลงราคาหรือวิธีพิเศษ ไม่เหมาะสมหลายประการ เช่น เอกสารประกอบการจ้างไม่สมบูรณ์การปฏิบัติ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2538 โดยเฉพาะโครงการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี 2546 ไม่เป็นการจ้างบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่มีประสบการณ์ที่เคยทราบหรือเคยเห็นความสามารถผลงานมาแล้ว และไม่มีคู่แข่งขันรายงาน อันมีลักษณะเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นและเอื้ออำนวยแก่บริษัทของนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน ซึ่งมีการคบคิด ตกลงวางแผน กันล่วงหน้า ระหว่างจำเลยที่ 1 กับ นายเจอรัลด์ กรีน โดยใช้บริษัทต่างๆ ที่นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นคู่สัญญาเพียง 3 บริษัท รับสัญญาจ้าง อันมีลักษณะเป็นช่องทางเพื่อให้ได้รับสัญญาจ้างและสัญญาจ้างช่วง เพื่อจัดหาสินค้าและให้บริการแก่ ททท.

วิธีการดังกล่าวแสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 แนะนำให้ นายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน จัดตั้งบริษัทเข้ามาเป็นคู่สัญญา กับ ททท. รวมถึงบุคคลธรรมดาที่ร่วมทำงานกับธุรกิจกรีน เกี่ยวกับโครงการภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 และฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เรียกรับเงินสินบน จากนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีน โดยได้โอนเงินไปยังน.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 และเพื่อน จำนวน 59 รายการ เป็นเงินจำนวน 1,822,294 เหรียญสหรัฐ พยานหลักฐานในคดีนี้จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเรียกรับทรัพย์สิน หรือจะยอมรับทรัพย์สิน เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ และยังเป็นความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ททท.และบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจการ์ด จำกัด ทั้งเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้เพื่อตนเอง กับนายเจอรัลด์ กรีน และนางแพทริเซีย กรีนกับพวก ซึ่งเป็นงบประมาณของรัฐตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 12

ที่นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าไม่เคยใช้ตำแหน่งหน้าที่ฐานะผู้ว่าการ ททท.และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดจ้างโครงการภาพยนตร์นานาชาติ และ บริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจการ์ด จำกัด และข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าเงินในบัญชีธนาคารจำนวน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรายได้จากการประกอบธุรกิจส่วนตัวกับนายเจอรัลด์ กรีนและบริษัทคอนซัลเทเซีย จำกัด โดยไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 นั้นฟังไม่ขึ้น

ส่วนศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ริบทรัพย์จากการกระทำผิดให้ตกเป็นของแผ่นดินได้หรือไม่นั้น ในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินจำนวน 1,822,494 เหรียญสหรัฐ ปรากฏอยู่ในบัญชีเงินฝากต่างๆ ของ น.ส.จิตติโสภา จำนวนเลยที่ 2 ที่ธนาคารในต่างประเทศและที่อื่นๆ โดยมีจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดทรัพย์สินดังกล่าวจึงได้มาจากการกระทำความผิด แม้โจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้ริบเงินจำนวนนั้น แต่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ได้บัญญัติให้ศาลใช้ดุลยพินิจ ในการริบทรัพย์สินที่บุคคลได้มา โดยการกระทำความผิดได้

การที่ นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับนายเจอรัลด์ และนางแพทริเซียมาก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 กำหนดโครงการต่างๆ ขึ้น บุคคลทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ร่วมกันทุจริตและแสวงหาประโยชน์จากโครงการที่ร่วมกันกำหนดขึ้นการทำสัญญาทุกขึ้นตอนอำพรางขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นสัญญาที่ผู้รับจ้างไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่มีประสบการณ์และไม่มีคุณสมบัติ สัญญาดังกล่าวข้างต้นขัดต่อข้อบังคับของททท.ว่าด้วยการพัสดุ พฤติการณ์เป็นการทุจริตร่วมกันตั้งแต่ชั้นเริ่มทำสัญญา ประกอบกับต่อมาเมื่อ ททท. จ่ายเงินให้แก่กลุ่มบริษัท ธุรกิจกรีนแล้ว นายเจอรัลด์และนางแพทริเซีย ได้โอนเงินและสั่งจ่ายเช็ค เข้าบัญชีธนาคารในต่างประเทศ ที่จำเลยที่ 2 เปิดบัญชีไว้ สัญญาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 ยังได้กำหนดมาตรการริบทรัพย์สินตามมูลค่าในมาตรา 33 ไว้และเนื่องจากเงินที่ศาลสั่งริบ จำนวนดังกล่าว รวมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นทรัพย์ที่ฝากอยู่ในธนาคารต่างประเทศ กรณีมีเหตุสมควรที่จะกำหนดมูลค่าของเงินดังกล่าวไปอีกทางหนึ่งด้วย อาศัยอำนาจตาม มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ให้กำหนดมูลค่าของสิ่งที่ศาลสั่งริบอันเป็นมาตราทางอาญา เป็นเงิน 62,724,776 บาท

พิพากษาว่า นางจุฑามาศ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 , 11 และ น.ส.จิตติโสภา จำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6, 11 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท รวม 11 กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม พ.ร.บ.ความผิดของพนักงานในองค์การฯ ตามมาตรา 6 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุก จำเลยที่ 1 กระทงละ 6 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 66 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงคงจำคุกไม่เกิน 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 44 ปี และริบเงินจำนวน 1,822,494 เหรียญสหรัฐ และดอกผลที่เกิดขึ้น ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งศาลให้กำหนดมูลค่าสิ่งที่สั่งริบดังกล่าว ตามมาตรการสำหรับคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ เพิ่มขึ้นอีกมาตรการหนึ่ง เป็นเงินจำนวน 62,724,776 บาท

ภายหลังนายธนกร แหวกวารี ทนายความ ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เดิมเป็นเงินสด คนละ 1 ล้านบาท เพื่อขอปล่อยชั่วคราว นางจุฑามาศ อดีตผู้ว่า ททท. อายุ 70 ปี และ น.ส.จิตติโสภา บุตรสาวอายุ 43 ปี ระหว่างยื่นอุทธรณ์คดี
ด้านนายนิกร ทัสสโร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวถึงเรื่องปล่อยชั่วคราวว่า ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยจะหลบหนี จึงเห็นควรส่งเรื่องให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่งประกันต่อไป

ขณะที่นายธนกร ทนายความ เปิดเผยว่า ศาลได้ส่งคำร้องขอประกันตัวดังกล่าวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ สำหรับทรัพย์สินที่ศาลสั่งริบทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินจำนวน 1.8 ล้านเหรียญเศษนั้น เป็นเงินอยู่ในบัญชีธนาคารต่างประเทศ ซึ่งศาลกำหนดมูลค่าประมาณ 62 ล้านบาท

ต่อมาเวลาประมาณ 18.00 น. เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ได้นำตัว นางจุฑามาศ อดีต ผู้ว่า ททท.และน.ส.จิตติโสภา บุตรสาว ขึ้นรถเรือนจำไปคุมขังไว้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง โดยทั้งสองสวมหน้ากากอนามัยและก้มหน้าเดินขึ้นรถ หลังจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ เห็นว่า การกระทำของจำเลย เป็นเรื่องร้ายแรง คดีอัตราโทษสูง และเกรงว่าหากปล่อยชั่วคราวจะหลบหนี จึงส่งคำร้องขอประกัน ให้ศาลอุทธรณ์ เป็นผู้พิจารณาสั่งประกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น