ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมเดินหน้าปราบยาเสพติด เผยสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุด พบว่าสถานการณ์การดีขึ้น ผู้ค้า ผู้เสพ การแพร่ระบาด ลดลง ประชาชนพึงพอใจผลดำเนินงานของรัฐบาลระดับมาก - มากที่สุดเพิ่มขึ้น
วันนี้ (23 มี.ค.) เวลา 13.30 น. ห้องประชุมตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มอบหมายให้ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ครั้งที่ 1/2560 พร้อมด้วย ผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 80 คน
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า เรื่องที่นำเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณา จำนวน 5 เรื่องนั้นมีสาระสำคัญ ดังนี้ 1. มาตรการควบคุมและกำกับดูแลเฮมพ์ (กัญชง) เป็นพืชเศรษฐกิจ ตามที่มติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณานั้น ได้เสนอใช้โครงสร้างกลไกของศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศอ.ปส.อ.) ควบคู่กับกลไกของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เพื่อบูรณาการควบคุมและกำกับดูแลเฮมพ์ (กัญชง) ในระดับต่างๆ 2. การดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ตามแผนปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ ภายใต้โครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย โดยเสนอที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ 7 แผนงานในพื้นที่ปฏิบัติการทั้งในและนอกประเทศรวม 11 พื้นที่ และจัดตั้งศูนย์ประสานงานแม่น้ำโขงปลอดภัยในประไทยเป็นการถาวร
3. (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2560 - 2564 โดยเสนอที่ประชุม เรื่องการปรับโครงสร้างศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.ปส.จชต.) เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ฯ และให้มีการบูรณาการงบประมาณของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติรับทราบ และมอบให้ฝ่ายเลขานุการนำแผนยุทธศาสตร์นี้ ไปเสนอต่อ คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) เพื่อให้ความเห็นชอบ 4. (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ว่าด้วยการแต่งตั้งการปฏิบัติหน้าที่และการกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. โดยแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้แก่ ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ตำแหน่งผู้อำนวยการเขต และพนักงานเมืองพัทยาประเภทอำนวยการท้องถิ่น ระดับสูง ตำแหน่งหัวหน้าสำนักปลัดเมืองพัทยา และ 5. การแต่งตั้งผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เสนอแต่งตั้ง รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ที่ได้รับมอบหมาย และผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ และเป็นผู้ช่วยเลขานุการ”
นายศิรินทร์ยา กล่าวอีกว่า สถานการณ์ปัญหายาเสพติด ในปี 2559 จากข้อมูลการจับกุมยาเสพติดทั่วประเทศ พบว่า มีการจับกุมยาเสพติดที่นำเข้าทางภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 69 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 30 และนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 เป็นต้นมา การจับกุมยาเสพติดที่นำเข้าทางภาคเหนือลดลงคิดเป็นร้อยละ 60 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 36 และพบว่า มีความพยายามลักลอบนำเข้ายาบ้าและไอซ์จากพื้นที่แหล่งผลิตผ่านชายแดนภาคเหนือด้านจังหวัดเชียงราย ผู้ลำเลียงเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศเพื่อนบ้านลำเลียงส่งให้ชาวเขาในพื้นที่ตามแนวชายแดน สำนักงาน ป.ป.ส. จึงได้ผนึกความร่วมมือในการแก้ไขปัญหายาเสพติดกับ 6 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง (ไทย จีน เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม) จัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน เรียกว่า “แผนปฏิบัติการสามเหลี่ยมทองคำ” ภายใต้โครงการแม่น้ำโขงปลอดภัย โดยเน้นการแก้ปัญหาที่แหล่งผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งถือเป็นต้นตอที่สำคัญที่สุดของปัญหายาเสพติดในภูมิภาคและของโลก และผลจากการที่ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการในการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ส่งผลให้กลุ่มนักค้าพยายามที่จะลักลอบนำยาเสพติดเข้าสู่ไทยในปริมาณของกลางครั้งละมากขึ้น เพื่อให้คุ้มค่าต่อความเสี่ยงที่จะถูกจับกุม
นายศิรินทร์ยา กล่าวต่อว่า สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ดำเนินยุทธการ “1386 ทั่วไทย ประชาชนปลอดภัยจากยาเสพติด” โดยดำเนินการต่อเนื่องภายใต้ "แผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด" โดยเน้นกลไกปฏิบัติในระดับพื้นที่ คือ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศอ.ปส.อ.) ที่จะทำงานเชิงรุกเข้าถึงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน โดยเป้าหมายดำเนินการส่วนใหญ่ได้ข้อมูลมาจากเรื่องร้องเรียนและการแจ้งเบาะแสของประชาชน ผ่านสายด่วน ป.ป.ส. 1386 และศูนย์ดำรงธรรม 1567 เพื่อดำเนินการกับผู้ค้ารายย่อยในพื้นที่ และนำผู้เสพติดในหมู่บ้านชุมชนเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาตามนโยบายของรัฐ ซึ่งจากปฏิบัติการนี้ ส่งผลให้ การสำรวจความคิดเห็น ของประชาชนเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดยาเสพติด และความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ครั้งล่าสุด พบว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของ ยาเสพติด ผู้ค้า ผู้เสพ ลดลง และประชาชนมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับมาก-มากที่สุด เพิ่มขึ้น