MGR Online - รองปลัดกระทรวงยุติธรรมโพสต์กรณี 2 เด็กประถมทำลายทรัพย์สินในห้องเรียนเสียหายยับ ไม่เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว
วันนี้ (16 มี.ค.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความกรณีสองนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.4 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ศรีสะเกษ ทำลายทรัพย์สินภายในห้องเรียนชั้น ป.6 จนได้รับความเสียหาย ระบุว่า “สองเด็กนักเรียนสนุกเกินเหตุ...ลุยพังห้องเรียนยับเยิน ไม่เข้าข่ายถูกดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 แต่ควรดูแลอย่างต่อเนื่องเหมาะสม เพราะเขาอาจเป็นคนสำคัญของประเทศได้
เนื่องจากตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73 บัญญัติว่า เด็กอายุยังไม่เกิน 10 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ และให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งในที่นี้หมายถึง เจ้าหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดศรีสะเกษ อย่างไรก็ตาม หากดูพฤติการณ์แห่งคดีก็ถือว่าเด็กดังกล่าวเป็นเด็กที่พึงได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพตามมาตรา 40 (2) เนื่องจากเป็นเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด
ซึ่งตามมาตรา 44 กำหนดว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพได้รับแจ้งจากผู้พบเห็นเด็กที่เสี่ยงต่อการกระทำผิด ให้สอบถามเด็กและดำเนินการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวเด็ก รวมทั้งสภาพความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ความเป็นอยู่ การเลี้ยงดู อุปนิสัย และความประพฤติของเด็กเพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับเด็ก และถ้าเห็นว่าจำเป็นต้องคุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็ก โดยวิธีส่งเข้าสถานคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือสถานพัฒนาและฟื้นฟู ก็ให้เสนอประวัติพร้อมความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เพื่อพิจารณาสั่งให้ใช้วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพที่เหมาะสมแก่เด็ก และในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตาม เห็นว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ก็ให้พิจารณาให้การสงเคราะห์ตาม แต่ถ้าเห็นว่ายังไม่สมควรส่งตัวเด็กไปยังสถานแรกรับ สถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ หรือสถานพัฒนาและฟื้นฟู ก็ให้มอบตัวเด็กแก่ผู้ปกครองหรือบุคคลที่ยินยอมรับเด็กไปปกครองดูแล โดยอาจแต่งตั้งผู้คุ้มครองสวัสดิภาพแก่เด็กตาม หรือไม่ก็ได้ และเมื่อได้ปรึกษาหารือร่วมกับผู้ปกครองหรือบุคคลที่จะรับเด็กไปปกครองดูแลแล้วอาจจะวางข้อกำหนดเพื่อป้องกันมิให้เด็กมีความประพฤติเสียหาย หรือเสี่ยงต่อการกระทำผิด โดยให้ผู้ปกครองหรือบุคคลที่รับเด็กไปปกครองดูแลต้องปฏิบัติข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อตามความเหมาะสม ดังต่อไปนี้
(1) ระมัดระวังมิให้เด็กเข้าไปในสถานที่หรือท้องที่ใดอันจะจูงใจให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร (2) ระมัดระวังมิให้เด็กออกนอกสถานที่อยู่อาศัยในเวลากลางคืน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นหรือไปกับผู้ปกครอง (3) ระมัดระวังมิให้เด็กคบหาสมาคมกับบุคคลหรือคณะบุคคลที่จะชักนำไปในทางเสื่อมเสีย (4) ระมัดระวังมิให้เด็กกระทำการใดอันเป็นเหตุให้เด็กประพฤติเสียหาย (5) จัดให้เด็กได้รับการศึกษาอบรมตามสมควรแก่อายุ สติปัญญา และความสนใจของเด็ก (6) จัดให้เด็กได้ประกอบอาชีพที่เหมาะสมกับความถนัดและความสนใจของเด็ก (7) จัดให้เด็กกระทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาตนเองทางด้านคุณธรรม จริยธรรม และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และหากปรากฏชัดว่าผู้ปกครองหรือผู้ที่รับเด็กไว้ปกครองดูแลละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตาม ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กรับเด็กกลับไปดูแล
อนึ่ง ส่วนค่าเสียหาย 4 หมื่นบาทนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ได้รับการคุ้มครองโดยให้สิทธิแก่ผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาได้ ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ก็ได้คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายไว้ว่า ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาจากรัฐและประมวลกฎหมายวิธีที่พิจารณาความอาญาได้แก้ไขเพิ่มเติมให้สิทธิแก่ผู้เสียหายยื่นคำร้อง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ได้โดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีต่างหาก แต่การที่จำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนทำให้มีปัญหาในการรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเพราะไม่มีทรัพย์สินเพียงพอแก่การบังคับคดีได้
แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้เยาว์กระทำความผิดทำความเสียหายเกิดขึ้นซึ่งเป็นการละเมิดผู้อื่น ผู้เยาว์ยังคงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ถูกทำละเมิด เมื่อเด็กหรือเยาวชนซึ่งยังคงเป็นผู้เยาว์อยู่ไม่มีความสามารถในการจดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิด กฎหมายจึงกำหนดให้มีผู้ที่ต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ ตามมาตรา 420 และ 429 ซึ่งกำหนดให้บิดามารดา ผู้แทนโดยชอบธรรมซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจปกครองและมีหน้าที่ดูแลบุตรผู้เยาว์ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งต้องทำนิติกรรม เช่น สัญญาประนีประนอมยอมความแทนผู้เยาว์ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา 1574 (12) ด้วย
แต่บิดามารดาก็ไม่มี... ฉะนั้น ตามมาตรา 44 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ ที่ว่า “...ในกรณีพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตาม เห็นว่าเด็กจำเป็นต้องได้รับการสงเคราะห์ก็ให้พิจารณาให้การสงเคราะห์ตาม...” หมายความถึงการสงเคราะห์ช่วยเหลือเรื่องเงินด้วยหรือไม่ คงต้องไปดูกฎกระทรวงฯ ประกอบต่อไป
อย่างไรก็ตาม เด็กทั้ง 2 คนซึ่งสนุกสนานมากเกินเหตุนั้น คงต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือในฐานะที่เขาเป็นเด็กต่อไป เพราะเขาอาจเป็นคนสำคัญของประเทศไทยก็ได้ใครจะไปรู้ แต่หากกระบวนการดูแลช่วยเหลือนั้นเป็นลมใต้ปีกในทางที่ผิด เราก็อาจส่งเด็กทั้ง 2 คนนี้ไปสู่เป้าหมายที่ผิดพลาดและเป็นปัญหาสังคมที่ร้ายแรงได้ด้วยเช่นกัน”