xs
xsm
sm
md
lg

สั่งปิดอพาร์ตเมนต์ ซ.รามคำแหง 39 ยันเสาเข็มทรุด ถือเป็นพื้นที่อันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กทม.-วิศวกรรมสถาน ตรวจที่เกิดเหตุอพาร์ตเมนต์ทรุดตัวในซอยรามคำแหง 39 พบความพกพร่องของเสาเข็มและตอม่อทำให้ตึกทรุด สั่งปิด ถือเป็นพื้นที่อันตราย

วันนี้ (15 มี.ค.) จากกรณีอาคารพาณิชย์ สูง 2 ชั้น ความกว้างประมาณ 6 เมตร เปิดเป็นที่พักอาศัยบริเวณด้านหน้าของอาคารเกิดทรุดตัวลงมา มีความลึกประมาณ 1 เมตร ภายในซอยรามคำแหง 39 แยก 23 ถนนรามคำแหง แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม. ทำให้ผู้ที่พักอาศัยต่างพากันอพยพหนีตายกันอลหม่าน ทำให้มีผู้อยู่อาศัยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย เหตุเกิดเมื่อเวลา 22.12 น.ของวันที่ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด นายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเข้าตรวจสอบอาคารหลังเกิดเหตุดังกล่าว โดยนายยุทธพันธุ์เปิดเผยว่า ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีความเป็นห่วงอย่างมากจึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายลงมาดูแลให้การสนับสนุนช่วยเหลือในทุกด้านอย่างเต็มที่ การตรวจสอบหลักๆ ในวันนี้จะดูเรื่องของการทรุดดังกล่าวของอาคารจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียงหรือไม่ อาทิ อาคารใกล้เคียงและถนนที่ใช้สัญจร ถ้าประเมินออกมาว่าไม่มีผลกระทบก็จะให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของอาคารในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ถ้าเจ้าของไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะเป็นหน้าที่ของทาง กทม.

ส่วนเวลาที่ใช้ในการดำเนินการซึ่งต้องรอผลการประเมินและความพร้อมของทั้ง กทม.และเจ้าของอาคาร รวมถึงการดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบหลังเกิดเกตุ จากการประเมินเบื้องต้นนั้นคาดว่าในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนเรื่องคดีความนั้นต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนจึงมาหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้ การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ นางจิตรลดา ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง ได้เดินทางมาตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อมอบเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

ด้าน ดร.ธเนศ เปิดเผยหลังจากการตรวจสอบอาคารดังกล่าวว่า อาคารดังกล่าวถูกสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น และได้ทรุดตัวลงไปด้านขวาของอาคารลึงลงไปกว่า 1 เมตร และลาดเอียงไปทางซ้ายลึกเกือบ 2 เมตร การทรุดตัวในลักษณะที่อาจจะมีความพกพร่องของเสาเข็มและเสาตอม่อซึ่งเป็นฐานรากนั้น การทรุดตัวของอาคารในลักษณะนี้อาคารจะยังทรุดตัวลงไปเรื่อยจนกว่าจะถึงจุดหนึ่งก่อนจะชะลอตัวลงซึ่งขึ้นอยู่กับแรงดันของพื้นดินด้านล้าง

ทั้งนี้ อาคารหลังดังกล่าวมีรอยแตกร้าวจากด้านขวาซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านี้อาคารมีการทรุดตัวจากทางด้านซ้ายลงไปก่อนสักระยะหนึ่งแล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบ อย่างไรก็ตามจะขอเวลาในการตรวจสอบเบื้องต้นอย่างน้อย 3 ชม. เพื่อดูว่าอาคารมีการทรุดตัวอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ทั้งนี้ต้องขอปิดพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นพื้นที่อันตรายห้ามใครเข้าจนกว่าจะตรวจสอบได้ว่าอาคารชะลอการทรุดตัวแล้วจึงจะให้ผู้อยู่อาศัยเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินได้

ขณะที่นายนนท์ประวิทย์ จันริสา อายุ 30 ปี พนักงานบริษัท โอสถสภา จำกัด ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า อาศัยอยู่ที่อาคารดังกล่าวมาประมาณ 2 ปี ก่อนเกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. หลังกลับจากที่ทำงานเพื่อพักผ่อน ขณะที่นอนอยู่ได้ยินเสียปูนลั่นคล้ายกับรถสิบล้อวิ่งผ่าน จึงเรียกเพื่อนข้างห้องมาดูพร้อมกับพูดคุยกันว่ากลัวอาคารจะถล่ม จึงไปตามเจ้าของอาคารมาดู เมื่อมาดูเจ้าของอาคารบอกว่ายังอยู่ได้จึงกลับเข้าไปพักผ่อน ต่อมาเวลาประมาณ 21.50 น.ได้ยินเสียงปูนลั่นอีกครั้งเสียงดังมาก พร้อมกับท่อประปาแตก จากนั้นอาคารก็ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วจึงรีบวิ่งหนีตายออกมาจากตัวอาคารทำให้ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าขวาเคล็ด หัวเข่าซ้ายเป็นแผลถลอก ก่อนหน้านี้เคยมีเพื่อนบ้านเล่าให้ฟังว่าอาคารดังกล่าวมีอาการพื้นลั่นอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่มากและมีรอยร้าวตามกำแพง แต่ไม่คิดว่าจะเกิดเหตุถล่มลงมาอย่างรวดเร็วอย่างนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น