xs
xsm
sm
md
lg

ฎีกาพิพากษากลับรอกำหนดโทษ “สุภิญญา-จอน” เอ็นจีโอ-พันธมิตรฯ ชุมนุมปิดสภาปี 50 (มีคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาพิพากษากลับให้"สุภิญญา กลางณรงค์-จอน อึ๊งภากรณ์” เอ็นจีโอ และแนวร่วมพันธมิตรฯ ชุมนุมหน้าสภาปี 50 มีความผิดฐานมั่วสุมก่อความวุ่นวาย แต่พฤติการณ์ไม่ร้ายแรง ให้รอการกำหนดโทษไว้ 2 ปี



วันนี้(15 มี.ค.)เมื่อเวลา 10.00 น.ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีบุกรัฐสภา หมายเลขดำ อ.4383/2553 ที่ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจอน อึ๊งภากรณ์ อายุ 67 ปี ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์), นายสาวิทย์ แก้วหวาน อายุ 54 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2, นายศิริชัย ไม้งาม อายุ 57 ปี แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 และอดีตประธานสหภาพแรงงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.), นายพิชิต ไชยมงคล อายุ 35 ปี, นายอนิรุทธ์ ขาวสนิท อายุ 50 ปี, นายนัสเซอร์ ยีหมะ อายุ 41 ปี, นายอำนาจ พละมี อายุ 50 ปี, นายไพโรจน์ พลเพชร อายุ 60 ปี กรรมการปฏิรูปกฎหมาย, น.ส.สารี อ๋องสมหวัง อายุ 51 ปี อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ อายุ 42 ปี กรรมการ กสทช. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-10 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และร่วมกันทำให้ปรากฏด้วยวาจา อันมิใช่กระทำในความหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แสดงความคิดเห็นโดยปกติเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 116, 215, 362, 364, 365

คดีนี้อัยการโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2553 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2550 จำเลย กับพวกหลายร้อยคน ได้มั่วสุมบริเวณ ถ.อู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา พวกจำเลยในฐานะเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการกลุ่มแนวร่วมภาคประชาชนได้ใช้รถบรรทุก 6 ล้อติดเครื่องขยายเสียงมาจอดปิดทางเข้าออกรัฐสภา ใช้โซ่ล่ามประตูเข้าออกไม่ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่เข้าไปในที่ทำการรัฐสภา ทั้งยังได้ยุยงส่งเสริมให้ผู้ชุมนุมบุกเข้าไปในรัฐสภา เพื่อขัดขวางสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ให้พิจารณาร่างกฎหมาย ต่อมาจำเลยกับพวกหลายร้อยคนได้บุกอาคารรัฐสภาใช้กำลังทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจนบาดเจ็บ จากนั้นได้เข้าไปชุมนุมที่อาคาร 1 ชั้น 2 ที่ใช้เป็นที่ประชุม สนช.แล้วได้ร่วมกันพูดและส่งเสียงกดดันจนสมาชิกรัฐสภาต้องเลิกการประชุม สนช.ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ เหตุเกิดที่แขวงดุสิต เขตดุสิต กทม. จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้เรื่องเจตนาว่าการกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจะยื่นข้อเสนอเรียกร้องต่อ สนช.ที่เร่งรีบจะพิจารณากฎหมาย 11 ฉบับ

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2556 ว่า จำเลยที่ 1-4 และ 7-8 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นผู้สั่งการ ตามมาตรา 215 วรรค 3 ที่มีโทษบทหนักสุดให้จำคุกคนละ 2 ปี ปรับคนละ 9,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5-6 และ 9-10 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ม. 215 วรรคแรก จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 9,000 บาท

แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลย 1-4 และ 7-8 คนละ 1 ปี 4 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5- 6 และ 9-10 จำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 6,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดเคยถูกลงโทษจำคุกมาก่อน และกระทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาจำเลยทั้งสิบไว้คนละ 2 ปี ต่อมาจำเลยทั้ง 10 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีว่าการเข้าไปในอาคารรัฐสภาและได้มีการปราศรัยต่อประชาชนนั้น เป็นการสื่อสารเพื่อให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของการชุมนุมที่จะคัดค้าน สนช.พิจารณากฎหมายและการชุมนุมแสดงความคิดเห็นก็ยังได้รับการคุ้มครองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญด้วย

ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยมีเจตนาคัดค้านว่าไม่ควรเร่งรีบออกกฎหมายที่สำคัญ รอสภาที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ออกกฎหมาย ไม่เป็นความผิด การเข้าไปในรัฐสภาไม่ได้เข้าไปครอบครองอสังหาริมทรัพย์ เป็นการแสดงจุดยืนเสนอข้อคัดค้านการออกกฏหมายโดยสงบปราศจากอาวุธ

อัยการโจทก์ยื่นฎีกา โดยในวันนี้จำเลยทั้งหมดเดินทางมายังศาลอาญาเพื่อรับฟังคำพิพากษา มีคนใกล้ชิดจำนวนมากเดินทางมาให้กำลังใจเต็มห้องพิจารณาคดี

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า จำเลยทั้ง 10 และกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันช่วงเช้ามืดที่ถนนอู่ทองใน หน้าอาคารรัฐสภา มีการปราศรัยปลุกเร้าผู้ชุมนุมไม่ต้องการให้ สนช.ผ่านร่างกฎหมาย 11 ฉบับ ผู้ชุมนุมได้ใช้โซ่ล็อกประตูรัฐสภาจากด้านนอก ใช้เหล็กครอบปลายแหลมของรั้วรัฐสภา และใช้บันไดพาดรั้วปีนเข้าไปภายใน แสดงให้เห็นว่าได้เตรียมการเข้าไปในรัฐสภาตั้งแต่ต้น และโจทก์มีพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า เห็นผู้ชุมนุมวิ่งมาหน้าห้องประชุมรัฐสภาและยื้อกับเจ้าหน้าที่รปภ.และเจ้าหน้าที่ประจำตัวรองประธานสภานิติบัญญัติ พร้อมผลักประตูกระจกเข้าไปด้านใน สอดคล้องกับหลักฐานภาพบันทึกจากแผ่นซีดี เห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 จะรับรองสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ แต่ก็ต้องไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น การที่ผู้ชุมนุมปีนเข้าไปในรัฐสภาซึ่งเป็นเขตพระราชฐาน ที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบรักษาความปลอดภัยของรัฐสภานั้นเป็นการละเมิดการครอบครองสิทธิแล้ว และการที่เจ้าหน้าที่ปิดประตูรั้วรัฐสภาตั้งแต่ต้นเป็นการย้ำว่าไม่ให้มีการเข้าไปด้านในรัฐสภา

ทั้งนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีจำเลยคนใดห้ามปรามไม่ให้มีผู้ชุมนุมเข้าไปด้านใน รวมถึงจำเลยบางรายยังปีนรั้วตามเข้าไปด้วย โดยเข้าไปยังห้องโถงของอาคารรัฐสภา ถือได้ว่ามีเจตนาเข้าไปรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์โดยปกติสุข ไม่มีเหตุอันควร ทั้งที่การคัดค้านการออกกฎหมายสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปภายในอาคารรัฐสภา ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงพิพากษากลับว่าการกระทำของจำเลยทั้ง 10 เป็นความผิดตามศาลชั้นต้นโดยการกระทำของจำเลยที่ 1-4 และ 7-8 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นผู้สั่งการ ตามมาตรา 215 วรรค 3

ขณะที่จำเลยที่ 5-6 และ 9-10 มีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตาม ม. 215 วรรคแรก แต่เมื่อพิจารณาจากอายุ อาชีพ การศึกษา เหตุผลและวัตถุประสงค์แล้ว เห็นว่าเป็นพฤติการณ์ไที่ม่ร้ายแรง จึงเห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้คนละ 2 ปี

ภายหลังนายจอนกล่าวว่า ขอขอบคุณศาล แม้คดีจะพิพากษาว่ามีความผิด แต่ศาลไม่ได้กำหนดโทษไว้ ซึ่ง ไม่เคยมีคำพิพากษาลักษณะนี้มานานแล้ว ทั้งนี้พวกตนจะไม่สามารถชุมนุมหรือกระทำผิดซ้ำได้อีก ดังนั้นการคัดค้านประเด็นสาธารณะต่างๆ จะเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ต่อไป

ขณะที่ น.ส.สุภิญญา ให้สัมภาษณ์กรณีที่คดีนี้จะกระทบการทำหน้าที่กรรมการ กสทช.ของตนหรือไม่ ว่า เป็นเรื่องที่ตอบยาก ต้องหารือกับทนายความและศึกษาความชัดเจนอีกครั้ง และส่งรายงานผลไปยัง กสทช.ให้ตีความ เพราะเป็นการรอการกำหนดโทษ









กำลังโหลดความคิดเห็น