MGR Online - ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก 245 ปี “ประไพศรี” อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน “ฮั้วประมูลสมยอมเอกชน จัดซื้อต้นไม้ ปรับแต่งภูมิทัศน์ และอาคารกว่า 300 ล้าน เมื่อปี 2543” ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่ - เอกชน 13 ราย โดนด้วย แต่กฎหมายลงโทษจำคุก 50 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาจำคุก นางประไพศรี เผ่าพันธุ์ อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จำเลยที่ 1 รวม 49 กระทงๆ ละ 5 ปี เป็นเวลาทั้งสิ้น 245 ปี ฐานกระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ที่เป็นบทหนัก แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วตามกฎหมายให้จำคุกสูงสุดไว้ 50 ปี และลงโทษข้าราชการชั้นผู้ใหญ่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับเอกชนผู้เสนองาน ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดสมยอมราคา อีกรวม 13 รายให้จำคุก คนละ 30 - 40 กระทง รวมจำคุกตั้งแต่ 100 - 205 ปี แต่เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วตามกฎหมายให้จำคุกสูงสุด 50 ปี
ขณะเดียวกัน ศาลได้พิพากษายกฟ้อง ข้าราชการชั้นผู้น้อยประมาณ 20 ราย เนื่องจากเห็นว่าเป็นเพียงผู้รับเรื่องประมูล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสมยอมราคาและการทุจริต
ซึ่งคดีดังกล่าว คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2558 และส่งอัยการสูงสุด ฟ้องดำเนินคดีนางประไพศรี อดีตรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, ข้าราชการในกรมและเอกชน รวมกว่า 30 ราย ร่วมกันทุจริตดำเนินโครงการจัดซื้อต้นไม้ ปรับแต่งภูมิทัศน์ และอาคารสถานที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระหว่างปีงบประมาณ 2543 - 2545 จำนวน 201 งานจ้าง หรือ 201 สัญญา เป็นเงินทั้งสิ้น 311,317,086 บาท ซึ่งมีพฤติการณ์ช่วยเหลือเอกชนรายใดรายหนึ่งให้เป็นคู่สัญญารับจ้างทำงานปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสถานที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยการอนุมัติให้จัดจ้างโดยวิธีแบ่งจ้างโดยลดวงเงินที่จะจ้างในครั้งเดียวกัน เพื่อให้วงเงินต่ำกว่าที่จะจ้างโดยวิธีประกวดราคา เป็นโดยวิธีสอบราคา และเพื่อให้อำนาจสั่งจ้างเปลี่ยนแปลงไป จากที่เป็นอำนาจของอธิบดี ให้เป็นอำนาจของตนเองแทน โดยไม่มีการดำเนินการสอบราคาและแข่งขันเสนอราคากันจริง ทั้งได้ทำเอกสารดำเนินการจัดจ้างโดยวิธีสอบราคาเป็นเท็จ ปลอมและใช้เอกสารใบเสนอราคาของเอกชนรายอื่นมาเป็นหลักฐานแข่งขันเสนอราคากับเอกชนรายที่ได้เลือกให้เป็นผู้รับจ้างทำงานนั้น
นายนิกร ทัสสโร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ให้รายละเอียดว่า นับแต่เปิดทำการศาล คดีนี้ถือเป็นคดีแรกที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาลงโทษจำคุกสูงสุดข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคน ขณะนี้จำเลยประมาณ 10 คน ถูกคุมขังในเรือนจำนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ทั้งนี้ เนื่องจากศาลอาญาคดีทุจริตฯ และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้จำเลยจะได้ยื่นขอประกันตัวหลายครั้งแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในส่วนเนื้อหาของคดีจำเลยสามารถอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตได้ตามกฎหมาย ทั้งนี้ เฉพาะจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนั้นยื่นอุทธรณ์ได้โดยไม่ต้องมาแสดงตนต่อศาลแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีสิทธิยื่นประกันตัวใหม่ได้ และคดีนี้ศาลยกฟ้องจำเลยบางคน ดังนั้น อัยการสูงสุดโจทก์ ก็มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ในส่วนของจำเลยที่ศาลพิพากษายกฟ้องได้ด้วย
เมื่อถามถึงการชดใช้ค่าเสียหายคืนแก่รัฐ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ กล่าวว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และ กระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้เสียหายควรจะนำคำพิพากษาไปศึกษาและหากยังไม่ได้ดำเนินการเรียกค่าเสียหายก็ควรเรียกร้องค่าเสียหายคืนแก่รัฐที่เกิดจากการกระทำของจำเลย ซึ่งจริงๆ ในทุกคดีหน่วยงานของรัฐเจ้าของเรื่องควรติดตามคดี เพราะว่าเมื่ออัยการสูงสุดฟ้องคดีแล้ว หน่วยงานรัฐ ผู้เสียหาย สามารถที่จะยื่นคำขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งคืนแก่รัฐเข้ามาในคดีอาญาได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่า หน่วยงานของรัฐยื่นคำขอทางแพ่ง ดังนั้น หลังจากมีคำพิพากษาแล้วหน่วยงานรัฐอาจจะต้องไปดำเนินการเรื่องค่าเสียหายคืนแก่รัฐเป็นเรื่องใหม่ต่างหาก
“สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน อยากฝากให้ปฏิบัติงานโดยสุจริตยึดถือประโยชน์ของแผ่นดินเป็นที่ตั้ง จะได้มีความภูมิใจในความเป็นข้าราชการ การทำตามระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้น เป็นสิ่งจะคุ้มครองตน อย่าใจอ่อนต่อเงินและประโยชน์ที่ไม่ชอบ อย่าใจอ่อนต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งการโดยไม่ถูกต้อง เพราะท้ายที่สุดแล้วการกระทำตามคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง จะทำให้เดือดร้อนต้องถูกดำเนินคดีอาญาได้ และเท่าที่สังเกตเมื่อต้องคดี ก็ไม่เคยเห็นผู้สั่งการให้ความช่วยเหลือทางคดี หรือช่วยประกันตัวให้” รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตฯ กล่าว