MGR Online - เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลดโทษจำคุก “หญิงเป็ด - จารุวรรณ อดีต ผู้ว่าการ สตง.- อดีต ผอ.ทรัพยากรบุคคล” เหลือ 1 ปี จากเดิมโทษ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา กรณีปฏิบัติหน้าที่มิชอบจัดสัมมนาพ่วงงานกฐินปี 46 ให้ข้าราชการร่วมงานเบิกจ่ายงบ
ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง วันนี้ (28 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันพฤหัสบดี 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ 2054/2559 ที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ นายคัมภีร์ สมใจ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารงานและทรัพยากรบุคคล สตง. ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กรณีที่จัดให้มีการสัมมนา ที่ จ.น่าน วันที่ 31 ต.ค. 46 ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการสัมมนากันจริง แต่จัดสัมมนาเพื่อให้ข้าราชการที่มีรายชื่อเข้ารับการสัมมนานั้น ได้ไปร่วมงานถวายผ้าพระกฐินพระราชทานที่จัดขึ้นในวันเดียวกันแล้วให้เบิกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และค่าใช้จ่ายต่างๆ ในงบเดียวกัน 294,440 บาท ทำให้ สตง. เสียหาย ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดคุณหญิง จารุวรรณ และ นายคัมภีร์
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 58 ว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 157 ให้จำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษ จากนั้น คุณหญิง จารุวรรณ และ นายคัมภีร์ ได้ยื่นสมุดบัญชีเงินฝากคนละ 2 แสน ขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี
ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว ประเด็นที่ คุณหญิง จารุวรรณ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์สู้ประเด็นการไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า หลังจากคณะอนุกรรมการไต่สวน รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาและพิจารณาว่า มีมูลแล้ว คณะอนุกรรมการได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยที่ 1 ทราบ และแจ้งด้วยว่า ในการแก้ข้อกล่าวหาจำเลยอาจทำเป็นหนังสือหรือชี้แจงด้วยวาจาก็ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ได้ลงชื่อรับทราบข้อกล่าวหา ส่วนที่จำเลยอ้างว่า ประธานอนุกรรมการฯ ลงลายมือชื่อในคำสั่งเรียกพยานไว้ล่วงหน้านั้น เพื่อให้อนุกรรมการใช้ดุลพินิจไประบุชื่อพยานในภายหลัง โดยไม่ปรากฏว่ามีการมอบหมายจากคณะอนุกรรมการนั้น เห็นว่า อำนาจนั้นก็เป็นการใช้อำนาจที่จำเป็นต้องทำหนังสือ หรือคำสั่ง เพื่อดำเนินการตามแนวทางการไต่สวน ซึ่งจะต้องลงนามโดยประธานอนุกรรมการจะต้องลงนามตามระเบียบ ป.ป.ช. ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. 2547 ข้อ 8 วรรคสอง แม้โจทก์จะไม่มีรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการที่เป็นพยานเอกสารมาแสดงสนับสนุน แต่ก็ไม่ได้เป็นข้อพิรุธที่บ่งชี้ว่าไม่มีการมอบหมายหรือกำหนดแนวทางการไต่สวนของอนุกรรมการ ดังนั้น การไต่สวนของคณะอนุกรรมการจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ของจำเลยว่าเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ม.157 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาของศาลชั้นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ เห็นว่า หลังจากคณะทำงานด้านการจัดสัมมนา ที่มี นายคัมภีร์ จำเลยที่ 2 เป็นหัวหน้าเห็นว่าการจัดโครงการสัมมนาที่จังหวัดน่านในช่วงเวลาเดียวกับการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน จะเป็นประโยชน์ตามหลักการทำงานเชิงบูรณาการ แล้วต่อมาจำเลยที่ 2 มีบันทึกจัดโครงการสัมมนาเสนอให้คุณหญิง จารุวรรณ จำเลยที่ 1 พิจารณาอนุมัติ ซึ่งกำหนดสัมมนาดังกล่าวนั้นตรงกับวันถวายผ้าพระกฐิน ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.- 1 พ.ย. 46 ซึ่งการที่จะเข้าร่วมสัมมนาที่จัดขึ้นในวันเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่กัน จึงเป็นเรื่องผิดสังเกต และหลังจากที่โครงการสัมมนาได้รับการอนุมัติไม่นานก็มีรายงานว่า มีจำนวนข้าราชการที่สมัครใจไปร่วมพิธี ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเองนั้นมีจำนวนลดลง ทั้งที่การตรวจสอบจำนวนข้าราชการนั้นเสร็จสิ้นไปแล้ว ตั้งแต่สิ้นเดือน ก.ย. 46 โดยเมื่อทราบจำนวนข้าราชการที่สมัครใจไปร่วมพิธีแล้ว จำเลยทั้งสองกับผู้บริหาร สตง. ก็ดำเนินการให้ข้าราชการในโครงการสัมมนาทั้งหมดไปร่วมการถวายผ้าพระกฐินทันที พร้อมกับปรับเปลี่ยนลดระยะเวลาสัมมนาโดยไม่ปรากฏว่าเป็นประโยชน์ตามหลักการทำงานเชิงบูรณาการแต่อย่างใด
ส่วนที่จำเลยทั้งสอง อ้างว่า การเปลี่ยนสถานที่จัดสัมมนาจาก โรงแรมซิตี้ ปาร์ค ไปเป็นสโมสรสันติภาพ 2 สืบเนื่องจากการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่การถวายผ้าพระกฐินเกิดความล่าช้า และเป็นการประหยัดการเดินทางและข้าราชการไม่ต้องกลับโรงแรมก่อน แต่จากการไต่ส่วนกับได้ความจากพนักงานโรงแรม พยานโจทก์ เจ้าหน้าที่ สตง. ยกเลิกการสัมมนาก่อนวันสัมมนาไม่น้อยกว่า 3 วัน โดยโรงแรมยังไม่ได้จัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม จึงไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายดังกล่าว เพียงแต่คิดเฉพาะค่าใช้จ่ายในการทำป้าย 300 บาท เท่านั้น แม้จะไม่ได้ความชัดว่า เจ้าหน้าที่ สตง. ที่สั่งยกเลิกเป็นใครแต่ก็ไม่ได้เป็นข้อสำคัญ เพราะเมื่อการเปลี่ยนแปลงสถานที่สัมมนาไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน แต่ได้เตรียมการไว้ก่อน อีกทั้งยังได้ความจากเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมสัมมนา 2 คนว่าหลังจากเสร็จพิธีถวายผ้าพระกฐินก็ได้เดินทางกลับโรงแรม จากนั้นจึงไปร่วมงานที่สโมสรสันติภาพ 2 จึงแสดงให้เห็นว่า การเดินทางกลับที่พักไม่ได้ใช้เวลามาก ทำให้ข้อกล่าวอ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนัก ประกอบกับมีพยานคนกลาง เบิกความว่า การถวายผ้าพระกฐินล่าช้า ก็เพราะรอวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน และหลังพิธีถวายผ้าพระกฐิน ก็มีการทอดผ้ากฐินสามัคคี ซึ่งเป็นเรื่องความสมัครใจและความศรัทธาของข้าราชการ ไม่ได้เป็นเรื่องของทางราชการ แต่กลับมีการเปลี่ยนกำหนดการสัมมนา เพื่อให้การทอดผ้ากฐินสามัคคีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเป็นลักษณะการจัดสัมมนาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมอื่นให้ดำเนินโดยราบรื่นมากกว่าที่จะมุ่งประโยชน์จากการสัมมนา ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ ขณะที่การจัดโต๊ะอาหารเป็นแบบโต๊ะจีน หันหน้าเข้าหากันนั่งแต่ละโต๊ะประมาณ 10 คน ส่วนบนเวทีได้ติดป้ายข้อความว่า “ขอต้อนรับคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา และคณะด้วยความรักยิ่ง 31 ต.ค. 2546” โดยมีการเสิร์ฟอาหารเย็นและเครื่องดื่ม ขณะที่สโมสรสันติภาพ 2 ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานนั้น ตั้งอยู่ภายในหมู่บ้านเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ชั้นล่างสำหรับข้าราชการทั่วไป ลักษณะดังกล่าวไม่ได้บ่งชี้ว่าเป็นการสัมมนา อีกทั้งระหว่างงานก็มีเสียงดังรบกวน ไม่มีเอกสารประกอบ ไม่มีการถกปัญหา หรือสรุปผลสัมมนา โดยพยานก็ระบุด้วยว่า ขณะรับประทานอาหารมีการเสิร์ฟแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งศาลเห็นว่า การจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลทำให้การระดมความคิด การแลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นถูกบั่นทอนให้ลดลง อีกทั้งการจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นสิ่งมึนเมาให้แก่ข้าราชการ ถือไม่ได้ว่าเป็นการจัดสัมมนาของส่วนราชการตามความหมายที่เข้าใจทั่วไป และถือไม่ได้เป็นการจัดโครงการสัมมนาตามนิยามของการสัมมนาทางวิชาการ หรือเชิงปฏิบัติการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ. 2545
เมื่อพฤติการณ์บ่งชี้ตรงกันว่า การจัดและอนุมัติโครงการสัมมนากระทำไปเพื่อให้ข้าราชการ สตง. ไปร่วมการถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน และการทอดผ้ากฐินสามัคคี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วยตัวเอง แต่เบิกจ่ายงบประมาณ สตง. ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ. 2545 โดยไม่มีการสัมมนาที่แท้จริง เป็นการเบิกจ่ายโดยไม่มีสิทธิทำให้ สตง. เสียหาย โดยจำเลยทั้งสองร่วมรู้เห็นตั้งแต่ต้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด ตาม ม.157 ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ว่า ควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ เห็นว่า จำเลยทั้งสองรับราชการที่ สตง. มางานจนดำรงตำแหน่งระดับสูง นับว่าได้ทำคุณประโยชน์ให้กับราชการ ประกอบกับจำเลยทั้งสองมีอายุมากประมาณ 70 ปี มีเหตุควรปรานี ที่ศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 2 ปี จึงหนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสม
ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุกจำเลยทั้งสอง คนละ 1 ปี แต่ที่จำเลยขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลเห็นว่า สตง. เป็นส่วนราชการมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของส่วนราชการอื่นให้เป็นไปตามกฎหมาย และมติ ครม. ซึ่งการตรวจสอบเพื่อให้เห็นว่ามีการใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ โดยประหยัดและได้ผลตามเป้าหมาย และมีผลคุ้มค่าหรือไม่ แต่จำเลยทั้งสองกลับไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินเสียเอง ทำให้ส่วนราชการอื่นและสังคมทั่วไป เคลือบแคลงและขาดความเชื่อมั่นในความสุจริต และระบบการตรวจสอบซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ พฤติการณ์จึงนับว่าร้ายแรง แม้ว่า คุณหญิง จารุวรรณ จะดำรงตำแหน่งในสถาบันต่างๆ หลายแห่ง และ นายคัมภีร์ จำเลยที่สอง มีอาการเจ็บป่วย แต่ก็ยังไม่เป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอ ที่จะรอการลงโทษให้
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นี้ ยังไม่ถือเป็นที่สุด ซึ่งคู่ความยังสามารถฎีกาได้