MGR Online - บช.ก.สั่งปิดการให้บริการ e-Money บ.บอส เพย์ออล กรุ๊ป ของ “ฟิล์ม รัฐภูมิ” ไว้ก่อน หลังแบงก์ชาติแจ้งจับฐานฝ่าฝืนชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทันที ตร.ยันต้องเข้าให้ปากคำ ปอศ.3 มี.ค.นี้
วันนี้ (23 ก.พ.) เวลา 14.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีต่อบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จากัด ที่มีนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือฟิล์ม รัฐภูมิ นักร้องนักแสดงชื่อดังเป็นประธานบริหารและถือหุ้น ซึ่งดำเนินธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money โดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยมี พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ รอง ผบช.ก. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ นายพฤทธิพงศ์ สีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย และนิติกรชำนาญการ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าร่วมประชุม
พล.ต.ต.ชวลิตกล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในส่วนต่างๆ ซึ่งตนไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียดเพราะเกรงจะกระทบต่อรูปคดี โดยภายหลังตัวแทน ธปท.ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อบริษัทดังกล่าวก็มีการประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีมาโดยตลอด ล่าสุดตำรวจได้ออกหมายเรียก บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป มาพบพนักงานสอบสวน ที่ บก.ปอศ. วันที่ 3 มีนาคม เวลา 13.00 น. ซึ่งทางบริษัทดังกล่าวจะส่งตัวแทนซึ่งเป็นกรรมการคนใดมาพบตำรวจก็ได้ โดยตามหนังสือบริคณฑ์สนธิ พบว่ากรรมการบริษัทนี้มีทั้งหมด 5 คน แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล พ.ศ. 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในการดำเนินคดีตำรวจจะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่ากรรมการคนใดบ้างที่มีอำนาจในการดำเนินการธุรกรรมและการเงิน
ทั้งนี้ ในหนังสือบริคณฑ์สนธิของบริษัทฯ ก็มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มีกรรมการคนใดบ้างที่มีอำนาจตรงนี้ แนวทางการสืบสวนก็มีข้อมูลส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ต้องรอการยืนยันอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตำรวจได้ตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และตรวจสอบเส้นทางทางการเงินกับสำนักงาน ปปง. ขณะเดียวกันจะมีการประสานสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หรือมีการกระทำที่เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือไม่ ส่วนกรณีนายรัฐภูมิออกมาขอโทษทางโซเชียลมีเดียนั้น อาจจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่สมาชิก แต่ไม่มีผลในทางคดี ตำรวจยังคงต้องดำเนินคดีเช่นเดิม
ด้านนายพฤทธิพงศ์กล่าวว่า คดีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตรวจพบว่า บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จากัด (บริษัท) ให้บริการแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ “PayAll” โดยให้ผู้ใช้บริการสมัครเป็นสมาชิกในแอปพลิเคชันและเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำ e-Money ดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าสินค้า หรือบริการจากร้านค้าต่างๆ ที่กำหนด ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการ e-Money อันเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ประกอบ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 (พ.ร.ฎ. e-Payment) และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมายดังกล่าว ธปท.ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.ฎ. e-Payment และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ให้ดำเนินการ ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จากัด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ซึ่งขณะนี้บริษัทเพย์ออล ต้องหยุดให้บริการบริการ e-Money ทันที เพราะถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว
“การประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money เป็นธุรกิจที่มีการรับเงินล่วงหน้าจากประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จึงต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ กฎหมายจึงกาหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดและที่สำคัญมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกาหนด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น ต้องมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วตามที่กำหนด และดำรงฐานะทางการเงินและสภาพคล่องเพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการ ต้องมีการเก็บรักษาเงินของผู้ใช้บริการที่เติมเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างรัดกุม โดยต้องฝากไว้ที่สถาบันการเงิน และแยกบัญชีไว้ต่างหากจากเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ดาเนินธุรกิจของ ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การรักษาความลับของข้อมูลผู้ใช้บริการ การคืนเงินให้ผู้ใช้บริการภายในระยะเวลาที่กาหนด และการแก้ไขข้อร้องเรียน” นายพฤทธิพงศ์กล่าว
นายพฤทธิพงศ์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พบเพียงบริษัท เพย์ออล เพียงแห่งเดียวที่มีการให้บริการ e-Money โดยไม่มีใบอนุญาต จึงขอแนะนำให้ประชาชน ร้านค้า และสถานประกอบการ เลือกใช้บริการ e-Money จากผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น รวมทั้งควรศึกษาเงื่อนไขของการใช้บริการและดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money ที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกากับดูแลของทางการได้จากรายชื่อที่แนบมาพร้อมนี้ และเว็บไซต์ของ ธปท. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หมายเลขโทรศัพท์ 1213 ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้แจ้ง ธปท.ทราบได้ตามช่องทางข้างต้น
ด้านนายณัชพัทร ขาวแก้ว นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า เดิมที บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จดทะเบียนในนามบริษัท นาน่า คอเปอเรชั่น จำกัด ซึ่งขออนุญาตเป็นบริษัทขายตรงจำหน่ายผลิตภัณท์ประเภทอาหารเสริมและเครื่องสำอาง รวม 6 รายการ ตั้งแต่ปี 2525 ก่อนจะมาขออนุญาตต่อ สคบ. และกรมการค้าภายใน เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด พร้อมปรับแผนการทำงานเป็นบริการอีมันนี่ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต แต่กลับให้บริการกับผู้บริโภคจึงเข้าข่ายการกระทำผิด และได้มีการเชิญกรรมการ 5 คน และตัวแทนนิติแทนนิติบุคคล เปรียบเทียบปรับรายละ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,800,000 บาท
ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิก หรือสินค้า สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบ ซึ่งทางบริษัทจะต้องจ่ายค่าสมาชิกคืนให้ภายใน 15 วัน ส่วนผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับสินค้า หลังจากนี้หากพบว่ายังโฆษณาที่ยังปรากฎในเว็บไซต์หรืออินเตอร์เน็ทจะเข้าข่ายมีความผิดซ้ำซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีอีก 1 กระทง