xs
xsm
sm
md
lg

พุทธศาสนิกชนหลั่งไหลเวียนเทียนในวันมาฆบูชาที่วัดโบสถ์ ปทุมธานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นำประชาชนประกอบกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา มาฆบูชา เวียนเทียนรอบพระพุทธโสธรในวัดโบสถ์

เมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560 นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ร่วมกันประกอบกิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา ด้วยการเวียนเทียนรอบพระพุทธโสธร โดยมี พระราชเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ฝ่ายธรรมยุต กล่าวนำบูชาที่วัดโบสถ์ ตำบลบางกระบือ อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

บรรยากาศประชาชนได้พาครอบครัวมาร่วมเวียนเทียนรอบฐานพระพุทธโสธรจำลององค์ใหญ่ทั้ง 2 ชั้น ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รอบวัดมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ทั้งนี้วัดโบสถ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2164 โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี เดิมเป็นวัดเก่าโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คือ หลวงพ่อเหลือ ถือเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ของเมืองปทุมธานี

พระราชเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดโบสถ์ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติในวันมาฆบูชาเป็นครั้งแรกในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีการประกอบพิธีเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2394 ในพระบรมมหาราชวังก่อนต่อมาการประกอบพิธีมาฆบูชาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร ทางรัฐบาลจึงประกาศให้เป็นวันหยุดทางราชการด้วย เพื่อให้ประชาชนจากทุกสาขาอาชีพได้ไปวัด เพื่อทำบุญกุศลและประกอบกิจกรรมทางศาสนา หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ โอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหลักคำสอนสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์

1. การไม่ทำบาปทั้งปวง คือ การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง อันได้แก่ อกุศลกรรมบถ 10 ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว 10 ประการที่เป็นความชั่วทางกาย (การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม) ทางวาจา (การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดเพ้อเจ้อ) และทางใจ (การอยากได้สมบัติของผู้อื่น การผูกพยาบาท และความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม)

2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม คือ การทำความดีทุกอย่างตาม กุศลกรรมบถ 10 ทั้งความดีทางกาย ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ประพฤติผิดในกาม ความดีทางวาจา ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อ และความดีทางใจ ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีความเมตตาปรารถนาดี มีความเข้าใจถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

3. การทำจิตใจให้ผ่องใส คือ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ หลุดจากนิวรณ์ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ ได้แก่ ความพอใจในกาม, ความพยาบาท, ความหดหู่ท้อแท้, ความฟุ้งซ่าน และความลังเลสงสัย ซึ่งทั้ง 3 หลักการข้างต้น สามารถสรุปใจความสำคัญได้ว่า ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ นั่นเองดีขึ้นของแต่ละบุคคล


กำลังโหลดความคิดเห็น