MGR Online – วงประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. ที่มี”บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้หารือเกี่ยวกับการออกคำสั่ง ม.44 เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการพัฒนาระบบการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ เพื่อป้องกันแก้ไขการทุจริต การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง
โดยมอบหมายให้ รองนายกฯวิษณุ เครืองาม ไปดำเนินการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งตั้งตำรวจเพื่อป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง เพื่อออกเป็นคำสั่ง คสช. แต่ถึงคำสั่ง คสช.ดังกล่าวจะยังไม่ออกมาให้เห็นรายละเอียดอย่างชัดเจน ทว่าก็พอจะเห็นเค้าโครงแนวทางการป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง”สีกากี” ที่จะกำหนดออกมาจากถ้อยคำสัมภาษณ์ ของ”บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.
“เรื่องการแต่งตั้งที่มีการกล่าวอ้างกันตลอดมาว่ามีการซื้อขายตำแหน่ง การกล่าวหาว่ามีการเรียกรับเงินทองต่างๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็ต้องให้ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ระดับล่างเป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของผู้การฯจังหวัดก็ให้มีการพิจารณาแต่งตั้งลูกน้องตัวเอง และให้ ผบ.ตร. เป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย เพราะเป็นอำนาจของตัวเอง ก็จะต้องมีการพิจารณาตั้งแต่ระดับล่าง ตรงกลาง และข้างบน โดยมีคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)ในการพิจารณา ซึ่งเดิมไม่มีเช่นนี้ อยู่ที่ข้างบนที่เดียวก็ตายกันพอดี”
สรุปคร่าวๆแนวทางที่”นายกฯตู่”จะมาใช้ในการแต่งตั้งตำรวจ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส่ ป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง การวิ่งเต้นโยกย้าย จะใช้วิธีการกระจายอำนาจ ให้ผู้บังคับบัญชาระดับล่างพิจารณารายชื่อแต่งตั้งเสนอขึ้นมาตามลำดับชั้น และผ่านบอร์ดพิจารณา ก่อนเสนอมาให้ “ผบ.ตร.” เป็นผู้ตัดสินใจออกคำสั่งแต่งตั้งตามอำนาจในขั้นตอนสุดท้าย หากเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว ก็ไม่แปลกใจที่เหล่า”สีกากี”จะออกอาการ”หยามหยัน” เพราะการแต่งตั้งตำรวจก็ยังรวมศูนย์อยู่ที่ “ผบ.ตร.” เพียงคนเดียว
แค่เพิ่มให้ระดับล่างทั้งกองบังคับการ กองบัญชาการมามีส่วนร่วมในการเสนอรายชื่อ เหมือนกับการนำระเบียบการแต่งตั้งตำรวจ ตามพ.ร.บ.ตำแหน่งแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาผสมกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2559 เรื่องการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
โดยตามระเบียบพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 หมวด 2 เรื่องการบรรจุ การแต่งตั้งและการเลื่อนขั้นเงินเดือน มาตรา 54 (3) การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่มาตรา 44 (7) หรือ รองผบก.ลงมา ในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้บัญชาการเป็นผู้สั่งแต่งตั้งจากข้าราชการตำรวจในสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือในกองบัญชาการนั้น แล้วแต่กรณี
โดยให้ผู้บังคับการที่เกี่ยวข้องมีข้อเสนอแนะและมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบด้วย และหากไม่เป็นที่ยุติ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ชี้ขาด
แต่ในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งตั้งแต่มาตรา 44 (8) หรือ ผกก. ลงมา ไม่สูงกว่าตำแหน่งเดิมภายในกองบังคับการที่สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือในกองบัญชาการที่มิได้สังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ผู้บังคับการเป็นผู้สั่งแต่งตั้ง
ส่วนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 21/2559 เรื่องการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เป็น ผู้สั่งแต่งตั้งข้าราชการตำรวจตามมาตรา 54 แห่ง พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 44/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 4 ธ.ค.2558 ตั้งแต่วันที่คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับ จนกว่าการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจในวาระการแต่งตั้งประจำปี 2559 จะแล้วเสร็จ
ต้องยอมรับว่าการรวมศูนย์มอบอำนาจให้ “ผบ.ตร.” แต่งตั้งโยกย้ายตำรวจได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดความง่ายและสะดวกในการแต่งตั้ง หลังจากที่การแต่งตั้งตำรวจระดับ รองผบก.-สว.วาระรปะจำปี 2558 ซึ่งยืดเยื้อยาวนานข้ามปี พอมีคำสั่งรวมศูนย์ให้อำนาจ ผบ.ตร. จากหัวหน้า คสช.ออกมาคำสั่งแต่งตั้ง “นายพัน” วาระประจำปี 2558 ก็เสร็จสิ้นเรียบร้อย
ความเรียบร้อยในการแต่งตั้ง “นายพัน” วาระประจำปี 2558 ก็เกิดปัญหามากมาย เพราะการแต่งตั้งมีมากเกือบ 2 พันตำแหน่งจากทั่วประเทศ จนเกิดเหตุการณ์แต่งตั้งซ้ำซ้อน แต่งตั้งคนเดียวหลายตำแหน่ง แต่งตั้งคนที่เสียชีวิตไปดำรงตำแหน่ง หรือการแต่งตั้งคนที่ขยับเป็นนายพลไปแล้ลงมาดำรงตำแหน่งนายพัน รวมทั้งมีข่าวลือสะพัดเรื่องการซื้อขายตำแหน่งกันอย่างกว้างขวาง
พอ “บิ๊กตู่” ขยับปรับปรุงการแต่งตั้งตำรวจใหม่ เพื่อต้องการป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง การวิ่งเต้นโยกย้าย แต่ก็ยังยึดรูปแบบการ “รวมศูนย์” ให้อำนาจ “ผบ.ตร.” เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย เหล่าสีกากีก็เกิดอาการหวั่นๆจะซ้ำรอยเดิม เพราะอำนาจที่กระจายไปให้ละดับล่างไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทุกอย่างก็ยังต้องส่งขึ้นมาให้ “ผบ.ตร.” ตัดสินใจ ไม่มีใครปฏิเสธว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ เป็นตำรวจมืออาชีพ และมีความมุ่งมั่นจะพัฒนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เจริญรุ่งเรือง เพียงแต่หลายคน”ขยาด”กับการแต่งตั้งวาระ 2558 ซึ่ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ก็มีอำนาจแต่งตั้งเต็มๆก็ยังเกิดปัญหา ยังเกิดข้อครหา
ดังนั้น ถ้าการปฏิรูปการแต่งตั้งตำรวจ เพื่อให้ปราศจากการซื้อขายตำแหน่ง ปราศจากการวิ่งเต้นโยกย้าย ตามที่ นายกฯประยุทธ์ ต้องการและมอบอำนาจให้ ผบ.ตร. เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย ก็คงต้องขึ้นอยู่กับ “บิ๊กแป๊ะ” จะสร้างชื่อให้”ลูกน้อง”จดจำในแง่ไหนเท่านั้น กับการแต่งตั้งโยกย้ายนายพันสีกากีปีนี้ที่มีคำสั่งลงมาให้แล้วเสร็จภายในวันที่15 มีนาคม