MGR Online - ป.ป.ท.เผยคืบหน้าตรวจสอบทุจริตสินบน บริษัท โรลส์-รอยซ์ ติดสินบนการบินไทย นายกฯ สั่งหน่วยงาน ศอตช. ทั้ง ป.ป.ช.-สตง.-ป.ป.ท.-ปปง.ร่วมตรวจสอบ ด้านกลุ่มอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยส่งนักบัญชีประสานให้ข้อมูล
วันนี้ (25 ม.ค.) นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบทุจริตการรับสินบน บริษัท โรลส์-รอยซ์ ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่ากรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของบุคคลไม่ดีทั้งสองฝ่ายมาเจอกัน หากว่าทางบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่รับเงินติดสินบนจากทางบริษัท โรลส์-รอยซ์ เพราะอยากได้งานเรื่องทุกอย่างก็คงไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อเรื่องดังกล่าวปรากฎขึ้นแล้วก็ต้องเร่งแก้ไข โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการ
นายประยงค์กล่าวอีกว่า สำหรับ ป.ป.ท.ได้รับการสนับสนุนจาก กลุ่มอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะบัญชี ประสานให้ข้อมูลว่าส่วนคำฟ้องเหตุการณ์มีการระบุถึง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. บริษัทแม่ 2. สำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา 3. บริษัทในสหรัฐอเมริกา และ 4. กลุ่มบุคคลที่เชื่อมโยงกันในภูมิภาคก่อนมาถึงกลุ่มบุคคลในประเทศไทย โดยการลงลึกถึงตัวบุคคลยังไม่ทราบ ตรงนี้ทำให้รู้ว่ามีการจ่ายสินบนจริง มีการซื้อขายกันจริง มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจริงเพราะมีเอกสารทางราชการ แต่ต้องพิสูจน์ว่าใครผิดหรือถูกต้องใช้เวลาสักระยะ รวมทั้งกลุ่มอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกันทำงานในเชิงเทคนิคทั้งหมดไม่ได้มุ่งเน้นคดีความเพียงอย่างเดียว ในส่วนคดีอาญาก็ต้องดำเนินการทำไปแต่หากหมดอายุความจะนำกฎหมาย ปปง.มาใช้แทน ทั้งนี้ได้หารือกับ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง.เรียบร้อยแล้ว รวมถึงการป้องกันแก้ไขหากมีจุดอ่อนหรือช่องว่าง กลุ่มอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะช่วยเหลือในส่วนนี้ด้วย
นายประยงค์กล่าวต่อว่า ในหน่วยงาน ศอตช.ทั้ง ป.ป.ช., สตง. และ ป.ป.ท.นั้นหากมีข้อมูลจะนำมาแลกเปลี่ยนกัน แต่มีข้อจำกัดเรื่องข้อกฎหมายซึ่งทางปฏิบัติได้มีการประสานร่วมทำงานกันมาตลอดและไม่ทำงานซับซ้อน อีกทั้งข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับนั้นส่วนใหญ่มาจากสื่อมวลชนแต่ข้อมูลเป็นทางการยังไม่ได้รับรายงาน ส่วนจะซ้ำรอยจีที 200 หรือไม่นั้น เนื่องจากเกิดขึ้นคนละยุคสมัยกัน โดยสินบนโรลส์-รอยซ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2534 แต่จีที 200 เกิดปี 2543 และนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายดำเนินการกระทำผิดต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องและดำเนินการป้องกันแก้ไขด้วย
“ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้มีการดำเนินตรวจสอบการภายในแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าจะทราบผลโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช.เผยว่าหากทุกหน่วยงานใน ศอตช.มีข้อมูลระดับหนึ่งแล้วจะนัดประชุมหารือร่วมกันอีกครั้ง” นายประยงค์กล่าว