xs
xsm
sm
md
lg

งานเข้า! “อัจฉริยะ” คู่ปรับครูแพะ ศาลรับฟ้องร่วม 2 ตร.กองปราบถอนเงินผู้เสียหายแบ่งกันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์(เสื้อสีเหลือง)
MGR Online - ศาลอาญาคดีทุจริตฯ รับฟ้องคดีเจ้าของร้านมือถือย่านมาบุญครอง ฟ้อง ตร.กองปราบO และประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ถอนเงิน 11 ล้าน จากบัญชีธนาคารที่ถูก ปปง.อายัดไว้จ่ายให้ผู้เสียหายคดีฉ้อโกงประชาชน นำมาแบ่งกันเองจนผู้เสียหายตัวจริงได้รับเงินไม่ครบ นัดสอบคำให้การวันนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2559 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อท.(ผ) 23/2559 หมายเลขแดงที่ อท.(ผ) 146/2559 ที่ น.ส.รัฏฏิการ์ ชลวิริยะบุญ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.พงษ์ไสว แช่มลำเจียก พ.ต.ท.ชัยพร นิตยภัตร์ พ.ต.อ.ณษ เศวตเลข นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ นายณัฐพสิษฐ์ ชาญจรูญจิต น.ส.วิภาณี ต๊ะมามูล น.ส.ธนสร แก้วเทพ เป็นจำเลยที่ 1-7 ตามลำดับ

คดีนี้โจทก์คือ น.ส.รัฏฏิการ์ เจ้าของกิจการร้านรับซื้อขายแลกเปลี่ยนและซ่อมแซมอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ย่านมาบุญครอง ชื่อร้าน EST2001, ร้าน INSTALL และมีร้านของสามีชื่อร้าน 55 โฟน ส่วนจำเลยที่ 1-3 เป็นพนักงานสอบสวนสังกัดกองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม จำเลยที่ 4 เป็นประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม จำเลยที่ 5-7 เป็นผู้สั่งซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อนำไปขายต่อ

คำฟ้องระบุว่า เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2556 ถึงมกราคม 2557 น.ส.บุศรินทร์ ยื่อโหนด และนายมนัส โชติขัน มาซื้อโทรศัพท์ที่ร้านของโจทก์ และร้านอื่นๆ ในย่านมาบุญครอง ในราคาท้องตลาดจำนวน 2,000 กว่าเครื่อง นำไปหลอกลวงผู้อื่นว่าจะขายในราคาต่ำกว่าทุน แต่เมื่อหลอกลวงได้จำนวนมากแล้ว (โดยได้หลอกลวงจำเลยที่ 5-7 ด้วย) ได้หลบหนีไป ต่อมา น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส ถูกจับ และถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 20 ปี

พนักงานสอบสวนตรวจสอบบัญชีของ น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส พบการโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์และผู้อื่นอีก 20 กว่าราย แต่เลือกบัญชีของโจทก์เพียงบัญชีเดียว ว่าเป็นบัญชีที่รับโอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประขาชน และแจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ให้อายัดเงินในบัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง ชื่อบัญชีโจทก์ เลขที่บัญชี 7022883555 เลขที่บัญชี 7022484499 และบัญชีของโจทก์อีก 3 บัญชี ซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว

ต่อมา ปปง.มีหนังสือถึงโจทก์ ลงวันที่ 24 เม.ย. 2558 แจ้งมติคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. เห็นชอบให้เลขาธิการ ปปง.ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ดำเนินการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และให้ดำเนินการกับทรัพย์สิน ตาม พ.ร.บ.ปปง. 2542 มาตรา 49 วรรคหก และ ป.วิฯ อาญา มาตรา 85 หลังจากนั้น พนักงานสอบสวนได้ส่งมอบพยานหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์สินให้จำเลยที่ 5-7 ไปแจ้งความดำเนินคดีโจทก์ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จึงถือว่าจำเลยทั้ง 7 ได้ร่วมกันกระทำความผิด แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษ กล่าวหาว่า โจทก์ร่วมกับนางสาวบุศรินทร์ และ นายมนัส ฉ้อโกงประชาชน โดย น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส โอนเงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชนให้โจทก์ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงโจทก์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อขายโทรศัพท์ระหว่างจำเลยที่ 5-7 กับ น.ส.บุศรินทร์ และนายมนัส ส่วนเงินที่โอนมาเป็นเงินค่าโทรศัพท์ ไม่ใช่เงินที่ได้จากการฉ้อโกงประชาชน

ต่อมาระหว่างเดือนกันยายน 2558 ถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2558 จำเลยที่ 5 มีหนังสือถึงผู้บังคับการปราบปราม เร่งรัดให้ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการธุรกรรม ปปง. โดยออกคำสั่งให้ธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง อายัดบัญชีเลขที่ 7022883555 จำนวนเงิน 11,534,800.70 บาท และบัญชีเลขที่ 7022484499 จำนวนเงิน 94,550.79 บาท ผู้บังคับการปราบปรามจึงส่งให้จำเลยที่ 1-3 พิจารณาและออกคำสั่งไปยังธนาคารกสิกรไทย

ต่อมาวันที่ 8 ตุลาคม 2558 จำเลยที่ 1-3 นัดจำเลยที่ 4 และ 5 มารับเงินทั้งสองจำนวนที่ธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง และจำเลยที่ 1-3 ให้ธนาคารถอนเงินในบัญชีของโจทก์ จำนวนเงิน 11,534,800.70 บาท และจำนวนเงิน 94,550.79 บาท ส่งมอบให้จำเลยที่ 5 ในเวลา 18.18 น. การกระทำของจำเลยที่ 1-3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทั้งยังเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษหนักขึ้น ส่วนจำเลยที่ 4-7 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1-3 เพื่อเอาเงินของโจทก์ไปโดยมิชอบ จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด

ศาลพิเคราะห์แล้ว มีคำวินิจฉัยคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 5-7 เป็นผู้เสียหายจากการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนของ น.ส.บุศรินทร์ และ นายมนัส และจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน พบว่า มีการโอนเข้าบัญชีของโจทก์ด้วย จำเลยที่ 5-7 ย่อมเข้าใจว่าโจทก์ร่วมกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยที่ 5-7 เข้าแจ้งความร้องทุกข์ตามที่ได้รับทราบและเข้าใจ จึงเป็นการใช้สิทธิของผู้เสียหายอันพึงกระทำได้ตามกฎหมาย ข้อกล่าวหาว่าจำเลยที่ 5-7 แจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อกลั่นแกล่งให้โจทก์ได้รับความเสียหายจึงไม่มีมูล

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1-3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่นั้น จำเลยที่ 1-3 เป็นพนักงานสอบสวนและเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย การดำเนินการถอนเงินในบัญชีของโจทก์เพื่อจ่ายคืนแก่จำเลยที่ 5 ในฐานะผู้เสียหาย เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โดยได้หารือไปยัง ปปง. และแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกสิกรไทย เพื่อแจ้งถอนการอายัดตามขั้นตอนแล้ว และการถอนเงินจากธนาคารกสิกรไทย สาขามาบุญครอง ในเวลา 18.00 น. ซึ่งธนาคารยังเปิดดำเนินการอยู่ สามารถกระทำได้ เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1-3 ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะเวลาราชการ

อย่างไรก็ตาม กรณีเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ คณะกรรมการ ปปง.มีมติให้คุ้มครองสิทธินั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ปปง. ให้คุ้มครองสิทธิจากเงินในบัญชีธนาคารของโจทก์ทั้งสองบัญชีรวมกันเพียง 4,698,404.03 บาท ตามเอกสาร จ.10 แต่ตามเอกสาร จ.1 แผ่นที่ 10 ระบุจำนวนเงินคุ้มครองสิทธิจากเงินในบัญชีของโจทก์ทั้งสองบัญชีรวมกัน 11,629,351 บาท ทั้งนี้ เกิดจากการผิดหลงเกี่ยวกับการแจ้งจำนวนเงินคุ้มครองสิทธิของ ปปง. และปรากฏด้วยว่าจำเลยที่ 1 ทราบเรื่องผิดหลงแล้วแต่ไม่ทักท้วง และร่วมกับจำเลยที่ 2 ดำเนินการเบิกถอนเงินเต็มจำนวนที่ผิดหลง ทั้งนำเงินที่ถอนออกมาส่งมอบให้ผู้เสียหายแต่ละคนไม่ครบเต็มจำนวนที่เบิกถอน

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า มีการหักเงินบางส่วนให้เจ้าหน้าที่รัฐคือ จำเลยที่ 1-2 และจำเลยที่ 4 ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้ผู้เสียหายแต่ละคนได้รับเงินน้อยกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งการแบ่งเงินระหว่างผู้เสียหายด้วยกันไม่เป็นไปตามสัดส่วนความเสียหายที่แต่ละคนได้รับ และมีการปกปิด หรือการทำหลักฐานการรับเงินเท็จด้วย และในกรณีนี้ หากต่อมาโจทก์ต้องคำพิพากษาว่ามีความผิดและมีหน้าที่ต้องชดใช้ความเสียหาย แต่มีการนำเงินของโจทก์ไปจัดสรรชดใช้ความเสียหายไม่ครบตามจำนวน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 และ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำนวนเงินที่ ปปง.มีมติให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย และการนำเงินที่ได้จากการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายมาแบ่งกัน จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ารู้เห็นเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และ 2 ในกรณีนี้ คดีจึงไม่มีมูลในส่วนของจำเลยที่ 3

ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่ใช่ผู้เสียหาย แต่มีส่วนช่วยเหลือสนับสนุนจำเลยที่ 1 และ 2 ปกปิดจำนวนเงินที่คณะกรรมการ ปปง.ผิดหลง การเบิกถอนเงินเต็มจำนวนที่ผิดหลง และส่งมอบเงินให้ผู้เสียหายไม่ครบเต็มจำนวน ทั้งยังเข้าไปมีส่วนได้เสียในจำนวนเงินที่เบิกถอนด้วย จึงมีมูลเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วย

จำเลยที่ 5-7 แม้เป็นผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินตามมติคณะกรรมการ ปปง. แต่ช่วยเหลือสนับสนุนจำเลยที่ 1 และ 2 ปกปิดจำนวนเงินที่คณะกรรมการ ปปง.ผิดหลง การเบิกถอนเงินเต็มจำนวนที่ผิดหลง และนำเงินบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 1-2 และ 4

จึงประทับรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และ 2 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เฉพาะกรณีเกี่ยวกับจำนวนเงินที่คณะกรรมการ ปปง. มีมติให้คุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย กรณีนำเงินที่ได้จากการถอนเงินในบัญชีของโจทก์ในส่วนที่เป็นการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายและส่วนที่เกินอันเนื่องมาจากการแจ้งผิดหลงของคณะกรรมการ ปปง.มาแบ่งกัน และจำเลยที่ 4-7 ในข้อหาสนับสนุนจำเลยที่ 1-2 เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริต

ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 5-7 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเพื่อกลั่นแกล้งให้บุคคลอื่นต้องได้รับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 174, 200

มีรายงานว่า ศาลได้นัดสอบคำให้การจำเลย ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต ในเวลา 09.00 น. วันนี้ (20 ม.ค.)

สำหรับนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กำลังเป็นที่จับตามองของสังคมถึงบทบาทการออกมาท้าชนกับนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อดีตครู จ.สกลนคร ที่ถูกจำคุกในคดีขับรถชนคนตาย และเมื่อพ้นโทษได้ยื่นร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ หลังจากมีผู้ออกมารับสารภาพว่าเป็นผู้กระทำความผิดตัวจริง โดยนายอัจฉริยะแสดงจุดยืนอยู่ข้างฝ่ายตำรวจ และประกาศขอเดิมพันในคดีนี้ หากนางจอมทรัพย์เป็นแพะจริง ชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรมยินดีให้ครูจอมทรัพย์ฟ้องทั้งอาญาและแพ่งได้ทันที และยินดียุติการทำหน้าที่ของชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น