xs
xsm
sm
md
lg

“ชาญชัย ลิขิตจิตถะ” องคมนตรี-อดีต ปธ.ศาลฎีกา ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 70 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - “ชาญชัย ลิขิตจิตถะ” อดีตประธานศาลฎีกาและเจ้ากระทรวงยุติธรรม ฝากผลงานจัดแถวดีเอสไอ ปราบปรามยาเสพติด ผดุงความยุติธรรมเพื่อบ้านเมือง ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 70 ปี

สำหรับประวัติและผลงานนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ อายุ 70 ปี องคมนตรี เกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2489 จบการศึกษามัธยมศึกษาจากโรงเรียนวัดทรงธรรม จบคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2512 จบเนติบัณฑิตไทย พ.ศ. 2514

เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เข้ารับราชการตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงราย หัวหน้าศาลแขวงนครสวรรค์ หัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี หัวหน้าศาลประจำกระทรวง หัวหน้าศาลจังหวัดกระบี่ หัวหน้าศาลจังหวัดเพชรบุรี ผู้พิพากษาศาลแพ่ง หัวหน้าคณะในศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษา หัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 3 รองอธิบดีศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาศาลฎีกา หัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลอุทธรณ์ หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 รองประธานศาลฎีกา กระทั่งได้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 36 เมื่อปี 2558 และเกษียณอายุราชการ เมื่อปี 2549 จากนั้นเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2549 ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2551 และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2559 ซึ่งเป็นองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10

โดยนายชาญชัยเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ได้มอบนโยบายที่จะสานต่อเดินหน้าปราบปรามยาเสพติด ที่ผ่านมาเคยเป็นนโยบายที่เข้มงวดการกวาดล้างอย่างหนัก แต่ในระยะหลังเบาบางลงไป เพื่อปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป รวมถึงการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับตัวเป็นคนดีในสังคม ตามด้วยมาตรการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนในทุกภูมิภาค สำหรับปัญหาการอำนวยความยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลทุกชุดพยายามแก้ไข เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข บทบาทของกระทรวงยุติธรรมต้องทำให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ในกรณีที่ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ จะเข้าไปจัดการให้เกิดความยุติธรรม ผู้ต้องหาคนใดไม่มีทนายจะจัดหาทนายความให้ ในส่วนของประชาชนที่ให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ จะได้รับการคุ้มครองดูแลให้ปลอดภัย และนายชาญชัยยังได้เน้นย้ำในการดำเนินงานกองทุนยุติธรรม เพื่อความยุติธรรมโดยเสมอภาค

วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2550 นายชาญชัยได้สั่งการให้กรมสอบสวนคดีพิเศษจัดชุดปฏิบัติการเข้าร่วมสอบสวนคลี่คลายคดีลอบวางระเบิดตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยให้เข้าไปทำงานสนับสนุนตำรวจและหาข้อเท็จจริง ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์วางระเบิดกรุงเทพมหานคร และ จ.นนทบุรี ในช่วงวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม 2549

นายชาญชัยลงนามในคำสั่งย้าย พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในขณะนั้น ให้ไปช่วยราชการที่กระทรวงยุติธรรม และแต่งตั้งให้นายสุนัย มโนมัยอุดม ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ในขณะนั้นมาดำรงตำแหน่งแทน โดยให้เหตุผลว่าไม่ต้องการให้ดีเอสไอเป็นกรมตำรวจย่อยๆ อีกกรมหนึ่ง แต่ต้องการให้ดีเอสไอเป็นหน่วยสอบสวนพิเศษเหมือนเอฟบีไอของสหรัฐฯ และต้องการให้เป็นหน่วยงานที่คานกับตำรวจ ไม่ใช่เป็นเนื้อเดียวกัน

ต่อมาวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2550 ได้ลงนามคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการกระทรวงยุติธรรม ระดับ 9 จำนวน 2 ตำแหน่ง โดยให้ปรับเปลี่ยน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษขณะนั้น ไปเป็นรองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และให้นายภิญโญ ทองชัย รองเลขาฯ ป.ป.ส.ขณะนั้น มาเป็นรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษแทนโดยมีผลในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2550 สำหรับสาเหตุที่ต้องย้าย พล.ต.อ.สมบัติ ก็เพื่อให้การสอบสวนคดีอุ้มฆ่านายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม มีความคืบหน้า และเพื่อไม่ให้ดีเอสไอตกเป็นจำเลยของสังคม

ทั้งนี้ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีเมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2551 จนถึงปัจจุบัน ระหว่างนั้นได้เกิดเหตุการณ์คนร้ายพยายามวางแผนลอบสังหารนายชาญชัย ซึ่งเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2552 ชุดสืบสวนภูธรภาค 1 ได้ควบคุมตัวชายต้องสงสัย อายุประมาณ 35 ปี ขณะเดินอยู่ใกล้กับบ้านชาญชัย ไว้ได้ทันก่อนลงมือ โดยผู้ต้องสงสัยสารภาพว่าได้รับการติดต่อจ้างวานให้ลงมือสังหารชาญชัยภายในวันที่ 7 เมษายน 2552 เพื่อทำให้สถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย และจะได้เป็นข้ออ้างไปกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ซึ่งระหว่างนั้นการเมืองไทยกำลังมีปัญหา ซึ่งนายชาญชัยได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า รู้สึกแปลกใจที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ไม่เคยมีปัญหากับใคร และไม่ทราบสาเหตุว่าจะมาทำร้ายกันทำไม

สำหรับเบื้องหลังการจับกุมคดีนี้ สืบเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากสายซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสังหารว่า ได้รับการว่าจ้างให้สังหารบุคคลสำคัญ โดยได้รับรูปถ่าย บ้านเลขที่ และหมายเลขทะเบียนรถไว้ แต่หลังจากที่ทีมสังหารรายนี้ไปสืบเสาะแสวงหาความจริงเพิ่มเติมพบว่าเป้าหมายคือ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี อดีตประธานศาลฎีกา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงทำให้เปลี่ยนใจและนำความมาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคงขณะนั้น พร้อมด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะนั้น พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ขณะนั้น และพล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขณะนั้น ได้แถลงการณ์การจับกุมผู้ต้องหา ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 3 คน ประกอบด้วย นายภาณุพงศ์ รัตนาไพบูลย์ หรือกอล์ฟ อายุ 31 ปี คนขี่จักรยานยนต์, นายศักดิ์ชาย แซ่ลิ้มหรือแบงค์ อายุ 28 ปี มือปืน และนายคมิก สุขภาญจนากาศ หรือจ่าเหน่ง อายุ 30 ปี คนชี้เป้าและติดต่อมือปืน พร้อมอาวุธปืนขนาด .38 จำนวน 1 กระบอก กระสุน 10 นัด จักรยานยนต์ 1 คัน ต่อมาอัยการได้ยื่นฟ้องนายภาณุพงศ์ นายศักดิ์ชาย และนายคมิก กับพวกอีก 3 ราย ต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2523 ให้จำคุกนายภาณุพงศ์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนนายคมิก จำเลยที่ 3 กับพวกที่เหลือมีความผิดฐานร่วมกันใช้จ้างวานฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุก 25 ปี และยกฟ้องนายศักดิ์ชาย จำเลยที่ 2 ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 กับพวกที่เหลือ 16 ปี 8 เดือน ขณะที่ต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษายืนเช่นกัน

อนึ่ง ท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ระบุว่า ในเรื่องนี้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ฯพณฯ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรีและอดีตประธานศาลฎีกา เป็นบุคคลผู้มีประวัติดีงามมาโดยตลอด เป็นบรรพตุลาการแบบอย่างของผู้พิพากษาในศาลยุติธรรม

กำลังโหลดความคิดเห็น