MGR Online - ศาลยุติธรรม เตรียมนำระบบประเมินความเสี่ยงการปล่อยตัวชั่วคราว โดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน เริ่มนำร่อง 5 ศาล 1 ก.พ. นี้ เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษไม่เกิน 5 ปี
วันนี้ (15 ม.ค.) นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการศาลยุติธรรม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมได้พัฒนาระบบการจัดการคดีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้การพิจารณาคดีมีความรวดเร็วมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2546 โดยพบว่าส่วนใหญ่คดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นจะแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน 1 ปี ส่วนคดีที่เข้าสู่ชั้นศาลอุทธรณ์จะแล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือน
ซึ่งในปี 2559 มีคดีเข้าสู่การพิจารณาศาลชั้นต้น 1,644,142 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,421,568 คดี ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี คิดเป็นร้อยละ 98.94 และมีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำนวน 49,882 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 43,433 คดี ในเวลาไม่เกิน 6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 98.26 ส่วนศาลฎีกามีคดีเข้าสู่การพิจารณา 18,705 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 9,290 คดี คงค้าง 9,415 คดี เมื่อเปรียบเทียบคดีคงค้างเมื่อ 4 ปีก่อน จำนวน 37,958 คดี พบว่าคดีค้างลดลงมาก
นายอธิคม กล่าวว่า ศาลยุติธรรมได้เพิ่มประสิทธิภาพลดความเหลื่อมล้ำในการปล่อยชั่วคราว หรือการประกันตัวจำเลยในระหว่างการสอบสวน หรือการพิจารณาคดีในศาล ซึ่งส่วนใหญ่ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เช่นปี 2558 มีผู้ต้องหา หรือ จำเลย ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวต่อศาลชั้นต้นทั่วประเทศ 231,568 คน ศาลอนุญาต 217,214 คน ไม่อนุญาตเพียง 14,354 คน คิดเป็นร้อยละ 6.20 เท่านั้น และในปี 2559 มีผู้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว 213,537 คน ศาลอนุญาต 201,149 คน ไม่อนุญาต 12,388 คน คิดเป็นร้อยละ 6.6 เท่านั้น
แต่จากสถิติผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 พบว่า มีผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนและการพิจารณาของศาลมีจำนวนถึง 59,070 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 289,675 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 20.29 ของผู้ต้องขังทั้งหมด โดยเชื่อว่าส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องขังที่พฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรง แต่ไม่มีหลักทรัพย์วางประกันจึงทำให้ถูกขังระหว่างการพิจารณา แตกต่างจากผู้ที่มีฐานะดีมีหลักประกันมาวางต่อศาลสามารถไปใชีวิตปกติ ประกอบอาชีพได้ และเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวศาลยุติธรรมจึงได้นำระบบประเมินความเสี่ยงในการปล่อยชั่วคราวมาทดลองใช้ในระบบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงในการหลบหนีของจำเลย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของศาลตรวจสอบข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนดแล้วประเมินออกมาเป็นตัวเลขความเสี่ยงการหลบหนีของจำเลย เพื่อให้ศาลพิจารณาก่อนสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และไม่ต้องใช้หลักประกัน เฉพาะคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี โดยจะเริ่มโครงการทดลองวันที่ 1 กุมภาพันธ์ นี้
ด้าน นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ระบุว่า การประเมินความเสี่ยงในการหลบหนีจะแบ่งออกเป็นระดับ คือ เสี่ยงมากที่สุด เสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง เสี่ยงน้อย และเสี่ยงน้อยมากที่สุดจากแบบประเมินความเสี่ยง โดยประเมินจากการตรวจประวัติการก่อเหตุอาชญากร พฤติการณ์ในคดี, ความเสี่ยงการหลบหนี, ความเสี่ยงการก่อเหตุซ้ำ, ความเสี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคม ความเสี่ยงที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และฐานข้อมูลส่วนตัวของบุคคลนั้นประกอบ การพิจารณาของผู้พิพากษา เช่นหากมีความเสี่ยงมาก อาจพิจารณาให้ใช้กำไลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอยู่ระหว่างออกแบบตัวกำไลเพื่อที่จะจัดซื้อ หรือ ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่มีการโหลดแอปพลิเคชันติดตามตัว ซึ่งพยานและฝ่ายโจทก์มีสิทธิในการยื่นคัดค้านการปล่อยชั่วคราวได้ ส่วนการทำหน้าที่ประเมินความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่นั้น หากพว่าไม่สุจริตมีลักษณะช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลย ก็ต้องมีความผิดทางอาญาแน่นอน
ขณะที่ นายมุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา เปิดเผยว่า เบื้องต้นจะทดลองใช้แบบประเมินความเสี่ยงเฉพาะศาลชั้นต้นนำร่อง 5 ศาล ประกอบด้วย ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ และศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลทั้งห้าแห่งมีลักษณะคดีและกลุ่มผู้ต้องหาหรือจำเลยแตกต่างกัน โดยใช้เวลาทดลอง 1 - 3 ปี ก่อนพิจารณาขยายไปยังศาลอื่นทั่วประเทศ และทดลองกับทุกฐานความผิดซึ่งขยายอัตราโทษมากขึ้น ยกเว้นความผิดในคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ และคดียาเสพติดที่มีการครอบครองและจำหน่ายจำนวนมาก
นายมุขเมธิน ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวอีกว่า ในการทดลอง แม้อัตราโทษคดีไม่เกิน 5 ปี จะมีสิทธิได้รับการรอลงอาญาตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่จะมีการนำผลการหลบหนีของจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในโครงการทดลองมาเปรียบเทียบกับจำเลยที่ใช้หลักประกันและหลบหนี หากพบว่าจำเลยในโครงการทดลองมีการหลบหนีมากกว่า ก็จะปรับปรุงแก้ไขแบบประเมินความเสี่ยงให้มีความแม่นยำมากขึ้นเพราะทั้งผิดพลาดไปจะกลายเป็นว่าปล่อยคนที่ไม่สมควรปล่อย ขังคนที่ไม่สมควรขัง และอาจต้องขยายระยะเวลาการทดลองมากขึ้นอีก
ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่าการใช้งบประมาณในการประเมินความเสี่ยงปล่อยชั่วคราว จะสามารถลดงบประมาณการดูแลผู้ต้องขังประมาณร้อยละ 10 ต่อคน และหวังว่าจะได้รับเงินสนับสนุนในส่วนนี้จากภาครัฐ โดยการจัดซื้อกำไล EM ขณะนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 1,000 ชิ้น และคาดว่า จะนำมาทดลองใช้ได้ก่อน 100 ชิ้น ซึ่งกำไล EM ของเราจะมีลักษณะเหมือนนาฬิกาข้อมือ ทำให้คล้ายเครื่องประดับเพื่อรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ด้วย
ด้าน นางสาวธัญญานุช ตันติกุล ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ระบุว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ประเมินความเสี่ยงรวบรวมข้อมูลแล้วผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณาคดี พร้อมเร่งบูรณาการฐานข้อมูลของบุคคล ให้เชื่อมโยงกันทั้งประเทศ ซึ่งยอมรับว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาในการเชื่อมโยงประวัติทางคดีของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่จะทำให้ตรวจสอบได้ชัดเจนทำให้ศาลจะต้องวางแผนเพื่อให้ข้อมูลเชื่อมโยงกันให้ได้ ขณะที่แบบประเมินความเสี่ยงของเราจะดัดแปลงจากแบบของประเทศสหรัฐฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญมาดูแล
อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ศาลยุติธรรม ยังเห็นว่าแนวคิดเรื่องตำรวจศาล หรือ คอร์ทมาแชล เป็นผู้สนับสนุนการติดตามตัวจำเลยที่หลบหนีด้วย ก็มีความจำเป็นด้วย ส่วนจะนำมาใช้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่นั้น เป็นเรื่องในอนาคต แต่ขณะนี้ยังเป็นโครงการนำร่องเฉพาะในระดับศาลชั้นต้น ที่อัตราโทษไม่เกิน 5 ปีเท่านั้น