MGR Online - ศาลอุทธรณ์แก้ จำคุก! “ณัฐวุฒิ-วีระกานต์-หมอเหวง-วิภูแถลง” แกนนำ นปช.นำม็อบชุมนุมปี 50 บุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ คนละ 2 ปี 8 เดือน
เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. วันนี้ (9 ม.ค.) ที่ห้องพิจารณา 813 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีชุมนุมล้อมบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ปี 2550 คดีหมายเลขดำ อ.3531/2552 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายนพรุจหรือนพรุฒ วรชิตวุฒิกุล แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 , นายวีระศักดิ์ เหมะธุลิน , นายวันชัย นาพุทธา , นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) , นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. , นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช. เป็นจำเลยที่ 1-7 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธ โดยเป็นหัวหน้า หรือผู้มีหน้าที่สั่งการ , ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเลิกไปแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ,215 , 216 , 297 , 298 ประกอบมาตรา 33 , 83 และ 91 กรณีเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2550 แกนนำ และแนวร่วม นปช. นำขบวนผู้ชุมนุมหลายพันคน จากเวทีปราศรัยเคลื่อนที่ สนามหลวง ไปยังบ้านพักสี่เสาเทเวศร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เพื่อเรียกร้องกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งระหว่างเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังขู่เข็ญ ซึ่งนายนพรุจ จำเลยที่ 1 ได้ใช้ ไม้เสาธง ตีประทุษร้ายร่างกาย ร.ต.อ. ทวีศักดิ์ นามจันทร์เจียม เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตกเป็นอันตรายสาหัส
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 ให้จำคุกนายนพรุจ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 8 เดือน ฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฯ ส่วนนายวีระกานต์ , นายณัฐวุฒิ , นายวิภูแถลง และ นพ.เหวง จำเลยที่ 4-7 คนละ 4 ปี 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายฯ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานฯ และให้ยกฟ้อง นายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 พร้อมให้ริบของกลางทั้งหมด
ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้ว่า จำเลยไม่อยู่ในวันที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 4 -7 ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดเพียงกรรมเดียวและกระทำไปเพื่อปกป้องการถูกคุกคาม ซึ่งเป็นข้อยกเว้นในการลงโทษ ส่วน นายวีระศักดิ์ และนายวันชัย จำเลยที่ 2-3 ซึ่งศาลยกฟ้อง นั้นอัยการโจทก์ไม่ได้ยื่นอุทธรณ์
โดยวันนี้อัยการโจทก์ จำเลยที่ 1, 4-7 เดินทางมาศาลพร้อมกับ นางธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช., นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช., นายสมหวัง อัสราษี แกนนำ นปช. รวมถึงภรรยาของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ คนใกล้ชิดและประชาชนที่มาให้กำลังใจกว่า 30 คน
ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีตำรวจ 2 นายซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุม เบิกความว่าขณะเกิดเหตุชุมนุม นายนพรุจ จำเลยที่ 1 ยืนอยู่ด้านหลังรถกระบะ มือข้างหนึ่งถือด้ามธง อีกมือหนึ่งถืออิฐตัวหนอนซึ่งโดดเด่นและเป็นที่จดจำแก่ผู้ที่พบเห็น และระหว่างนั้นมีการปาอิฐตัวหนอนใส่กลุ่มเจ้าพนักงานตำรวจที่พยายามเข้าจับกุม แล้วยังได้มีการขับรถกระบะพุ่งใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ท้ายรถกระบะ แต่รถกระบะได้เสียหลักชนขอบฟุตบาท ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้อ้างว่าขณะนั้นตนไม่อยู่ในที่เกิดเหตุ ไปรับป้าที่เป็นญาติกันนั้น ในชั้นพิจารณาจำเลยเบิกความยอมรับว่าเป็นแกนนำกลุ่มพิราบขาว ดังนั้นการที่จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุก็มีความเป็นไปได้ ประกอบกับจำเลยไม่มีบุคคลอื่นมาเบิกความสนับสนุน จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ซึ่งพยานโจทก์ที่อยู่ในที่เกิดเหตุรู้เห็นเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง และเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในขณะนั้นเบิกความสอดคล้องกันไม่มีเหตุให้ปรักปรำจำเลย จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลลดโทษโดยอ้างเหตุมีภาระต้องเลี้ยงดูบิดามารดาและบุตร รวม 5 คน แต่ก็เป็นเหตุผลส่วนตัวอีกทั้งเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง ทำร้ายเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ
ส่วนจำเลยที่ 4-7 นั้น มีพยานเป็นตำรวจหลายนายรวมทั้งสื่อมวลชน เบิกความสอดคล้องกับภาพถ่ายและวิดีโอบันทึกการชุมนุม แต่ที่จำเลยอุทธรณ์สู้ว่าไม่มีเจตนาใช้กำลัง ไม่ได้เป็นแกนนำและสั่งการปลุกระดมให้เกิดความรุนแรง ส่วนการใช้อิฐตัวหนอนตอบโต้เพื่อป้องกันการคุกคาม เป็นการป้องกันตัวโดยชอบตามกฎหมาย ศาลเห็นว่า ระหว่างการชุมนุมซึ่งมีการปาขวดน้ำและอิฐตัวหนอนใส่เจ้าหน้าที่จนผ่านจุดสกัดกั้น และเจ้าหน้าที่ถอยร่นไปบริเวณหน้าสโมสรกองทัพบก ซึ่งระหว่างนั้นกลุ่มจำเลยได้ผลัดเปลี่ยนกันปราศรัยปลุกเร้าระบุว่าให้ลุยเข้าไป ยึดรถเลย บุกมาแค่ไหนไม่กลัว สู้กันเลย ต่อไปเป็นสงครามประชาชน ใครมีมือถือโทรตามพี่น้องเข้ามาร่วม ฯลฯ ซึ่งมีเสียงเฮและปรบมือตอบรับจากกลุ่มผู้ชุมนุม และระหว่างนั้นตำรวจได้แจ้งให้ยุติการชุมนุม แต่จำเลยไม่ยอมยุติ จนกระทั่งเวลา 23.00 น. ตำรวจจึงบุกเข้าจับกุมจำเลย ซึ่งการกระทำนั้นแม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ แต่การปราศรัยของจำเลยมีลักษณะเป็นการใช้ถ้อยคำยุยงให้ผู้ชุมนุมรู้สึกฮึกเหิมกล้าสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่ระหว่างนั้นจำเลยกับพวกสามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการยุติการชุมนุม และที่จำเลยอ้างว่าเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญฯ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าแม้รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะให้สิทธิรับรองไว้ แต่การชุมนุมนั้นจะต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น สุจริตไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง แต่พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การชุมนุมของจำเลยไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบ มีเจตนาพิเศษให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และมีอำนาจสั่งการใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งการที่จำเลยอ้างว่าการกระทำต่อเจ้าหน้าที่เป็นการป้องกันการคุกคามนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่สลายการชุมนุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจำเลยจึงมีความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป เพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายฯ ตามมาตรา 215 และ 216
ส่วนที่จำเลยที่ 4-7 อุทธรณ์ต่อสู้ว่าการกระทำเป็นความผิดกรรมเดียวนั้นฟังขึ้นบางส่วน เนื่องจากการชุมนุมของจำเลยมีเจตนาเดียวเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย และความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานนั้น ก็รับฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ไม่ใช่ตัวการร่วม
ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ตามมาตรา 138 วรรคสอง ให้จำคุกคนละ 1 ปี และมีความผิดฐานมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายโดยเป็นหัวหน้าสั่งการ ซึ่งเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและวรรคสาม, มาตรา 216 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 215 วรรคสาม 1 กระทง ให้จำคุกคนละ 3 ปี รวมจำคุกคนละ 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 4-7 คนละ 2 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งในส่วนของนายนพรุจ จำเลยที่ 1 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน
ภายหลังฟังคำพิพากษา กลุ่มผู้ใกล้ชิดรีบเข้ามาให้กำลังใจจำเลย และสอบถามถึงผลคดี โดยจำเลยทั้ง 4 มีสีหน้ากังวลเล็กน้อย ก่อนที่ทนายความจำเลยจะยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 500,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งห้าระหว่างฎีกาสู้คดี
ต่อมาเวลา 18.00 น. ภายหลังศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้งห้า โดยตีราคาประกันคนละ 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขเดิมคือ ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่ได้รับอนุญาต
ด้านนายณัฐวุฒิ จำเลยที่ 5 ให้สัมภาษณ์ว่า ขอบคุณศาลที่ให้ความเมตตาในการให้ประกันตัว จากนี้ตนจะหารือกับทนายความเพื่อรวบรวมหลักฐานต่อสู้คดีในชั้นฎีกาต่อไป เราน้อมรับและเคารพคำวินิจฉัยของศาล เมื่อกระบวนการยังไม่ถึงที่สุดก็เป็นสิทธิของจำเลยที่จะต้องต่อสู้คดีกันต่อ แม้ว่าพวกตนจะได้รับอิสรภาพแล้ว แต่ก็ยังห่วงใยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่ยังไม่ได้รับอิสรภาพ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเราจะต้องดำเนินการเพื่อให้นายจตุพรได้รับการประกันตัวจากศาลต่อไป
เมื่อถามว่าอาการป่วยล่าสุดของนายจตุพรเป็นอย่างไรบ้าง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ได้พบกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้ว อาการดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังไม่เรียกว่าหายดี อยู่ในระยะต้องเฝ้าระวัง ขณะนี้ทราบจากประชาชนที่ไปเยี่ยมมาว่านายจตุพรมีอาการหนาวสั่น และขอตัวกลับไปกินยาหลังจากการเยี่ยมเสร็จ ซึ่งพวกตนก็ห่วงใยและหวังว่าจะได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอก แต่ถ้าไม่สามารถออกมารักษาตัวภายนอกได้ โรงพยาบาลราชทัณฑ์ก็เหมาะสมแล้ว
เมื่อถามว่าจะมีการยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ขอให้นายจตุพรได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลภายนอกหรือไม่ นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ได้ไปหารือกับอธิบดีด้วยวาจาแล้ว ซึ่งท่านก็อธิบายเหตุผล ความจำเป็น หลักเกณฑ์และระเบียบของทางเรือนจำ ซึ่งไม่ใช่การพยายามกดดันกระบวนการยุติธรรม หรือแทรกแซงการทำหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ แต่เป็นความห่วงใยในฐานะคนร่วมต่อสู้มาด้วยกัน หลังจากนี้ก็จะไปเยี่ยมและติดตามอาการของนายจตุพรอย่างใกล้ชิด