xs
xsm
sm
md
lg

จ่อโมฆะสอบนายสิบ ตร.นครบาล หลังพบมีการทุจริต ผบช.น.เรียกประชุมขอฟังเสียงส่วนใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - ผบช.น. เผย เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ กรณีการทุจริตสอบนักเรียนนายสิบตำรวจนครบาล จอโมฆะ ขอฟังเสียงส่วนใหญ่ก่อนสรุป เผยเรียกสอบแล้ว 10 ราย อุบไม่ตอบรายละเอียด

วันนี้ (6 ม.ค.) ที่ สน.โคกคราม พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงกรณีการทุจริตสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจ เมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา ว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่มีการเรียกพยาน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเข้ามาสอบปากคำแล้วจำนวนหลาย10 คน ซึ่งมีการพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 แต่จะเป็นใครนั้นรายละเอียดยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องมีการตรวจสอบพยานหลักฐานอื่นๆ

สำหรับการสอบในครั้งนี้จะเป็นโมฆะหรือไม่ ต้องมีการประชุมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกครั้งในช่วงบ่าย ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล และต้องรับฟังเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งในความคิดส่วนตัว เห็นว่า ควรจะให้ความเป็นธรรมกับบุคคลที่ตั้งใจเข้ามาสอบโดยไม่มีการทุจริต สำหรับคนที่ผิดก็ต้องดำเนินคดีทางกฎหมาย

นอกจากนี้ พล.ต.ท.ศานิตย์ ระบุว่า การทุจริตข้อสอบในครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้กับกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อที่จะต้องเรียนรู้และปรับเปลี่ยนวิธี ป้องกันไม่ให้มีการทุจริตในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

สำหรับกรณีนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดรับสมัครบุคคลภายนอก อายุระหว่าง 18 - 27 ปี วุฒิการศึกษามัธยมศึกษา 6 หรือ ปวช. หรือเทียบเท่า ให้สอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ โดยเปิดการสอบทุกภาค ซึ่งในส่วนของ บช.น. ได้เปิดตำแหน่งจำนวน 1,000 อัตรา และเปิดรับสมัครผ่านทางอินเทอร์เน็ตไปเมื่อวันที่ 4 - 23 พ.ย. ที่ผ่านมา มีผู้สมัครเข้าสอบทั้งหมด 13,285 คน และสอบข้อเขียนเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ใช้สนามสอบ 2 แห่ง คือ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก และ มหาวิทยาลัยรามคำแหง วิทยาเขตบางนา

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น. ทาง พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อข้อสรุป

ด้าน พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ผกก.ศฝร.บช.น. เปิดเผยถึงกรณีการทุจริตสอบเข้าเป็นนายสิบตำรวจ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2559 ว่า ขณะนี้ได้ออกหมายเรียกกลุ่มที่น่าจะมีพฤติกรรมน่าสงสัยเกี่ยวกับทุจริตการสอบ ทั้งหมด 413 ราย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่รับจ้างเฉลยข้อสอบจะเป็นนักศึกษาแพทย์ ทันตแพทย์ วิศวะ ของมหาวิทยาลัยอยู่ไม่กี่แห่ง พฤติเหล่านี้ทำให้การสอบที่ผ่านมามันไม่โปรงใส ซึ่งตอนนี้ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าใน 1,800 กว่ารายที่สอบตำรวจนั้นมีการทุจริตกี่คน เพราะการสอบสวนต้องดำเนินต่อไปคงต้องใช้เวลา ในวันนี้คณะกรรมการจะมีการชุมในประเด็นนี้ว่า 1. จะขออนุมัติ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ให้จะยกเลิกการสอบในส่วนของข้อเขียน ที่พบว่ามีความไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม หลังจาก ผบ.ตร. อนุมติแล้วก็จะมีกรอบระยะเวลา จะทำให้หลักสูตรการเรียนที่เราเชื่อว่าจะเรียนไม่ทันวันที่ 1 ก.พ. ซึ่งจะไปกระทบกับภาพรวมทั้งประเทศ เพราะว่านักเรียนจะต้องเรียนพร้อมกัน 2. จะพิจารณาดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งวันนี้จะมีมติมอบหมายให้ตนร้องทุกข์ดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิด ในเบื้องต้นมีประมาณ 10 กว่าคน 3. จะเสนอให้มีการตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในส่วนของคณะกรรมการคุมสอบข้อเขียน ว่ามีเจ้าหน้าที่บกพร่องหรือมีส่วนรู้เห็นในการทุจริตการสอบในครั้งนี้

พ.ต.อ.อุเทน กล่าวถึงพฤติการณ์ขบวนการนี้ว่า มาจากตอนที่ตรวจคะแนนซึ่งมีคนได้ต่ำสุดเพียง 13 คะแนน มากสุดได้ 123 คะแนน จาก 150 คะแนน ตนก็ได้รายงานไปยัง พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. ในฐานะผู้คุมสอบข้อเขียน ซึ่งในการสอบครั้งนี้มีนักศึกษาแพทย์ประมาณ 30 คน ที่รับจ้างเฉลยข้อสอบ ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้รับจ้างสอบอยู่เป็นประจำ จะเป็นนักศึกษาในระดับชั้นปีที่ 1-2 โดยเป็นการชักชวนจากรุ่นพี่ที่บอกต่อกันมา และถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เฉพาะตำรวจหากมีการสอบที่ใช้วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็จะไปรับจ้างเฉลยข้อสอบด้วย ผู้ที่ลอกข้อสอบไม่ใช่ว่าจะติดทุกคน ผู้ที่ลอกมีประมาณ 300 กว่าคน ที่เราตรวจเจอติดแค่ 80 คน อีก 220 คนไม่ติด ที่ไม่ติดเพราะว่าไม่กล้าลอก และผู้รับจ้างเฉลยก็ไม่กล้าขยับเพราะกลัวเจ้าหน้าที่ที่เดินตรวจอยู่ บางคนที่สอบติดใน 80 คนนี้ รับว่าทำมาแล้ว 3 ปี แต่เพิ่งจะมาติดรอบนี้ และข้อสอบที่มีปัญหายังพบว่ามีบางคนที่ไม่ได้มีการทดเลขอะไรเลย แต่ได้ 80-90 คะแนน ข้อสอบมี 7 ชุด แต่ละชุดจะไม่เหมือนกัน แต่ว่าเขาไม่สนใจว่าจะได้ชุดไหน เช่นวิชาคณิตศาสตร์ข้อไหนก็ตามที่ช้อยข้อ 4 ตอบ 30 กาถูกไปได้เลย ช้อยข้อไหนที่เป็นข้อ 2 ตอบ 17 ไปเลย

ซึ่งผู้รับจ้างเฉลยข้อสอบจะรับค่าจ้างประมาณ 20,000-30,000 ต่อคน ทุกครั้งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการตรวจสอบข้อมูลการสมัคร โดยเป็นการสมัครผ่านอินเตอร์เน็ต มีการกรอกข้อมูล ซึ่งในตรงนี้เราจะไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ จนกว่าเด็กจะสอบติดและมารายงานตัวเราถึงจะรู้ เพราะฉะนั้นเด็กนักเรียนแพทย์ที่รับจ้างเฉลยข้อสอบจะสอบไม่ติด จะกาคำตอบแบบผิดๆ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้จะอยู่ในกลุ่ม 13 คะแนนหรือกลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุด ตนก็เลยสั่งให้ตรวจสอบว่าคนที่ได้คะแนนน้อยสุดเป็นใคร ทำคะแนนได้น้อยเพราะอะไร ก็พบว่าเป็นนักศึกษาแพทย์เหล่านี้ ซึ่งทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพมหานคร แต่ตอนกรอกใบสมัครระบุว่าอยู่ต่างจังหวัด จึงตรวจสอบกระดาษคำถาม พบว่ามีการเขียนคำตอบเป็นคำใหญ่ๆ ซึ่งจะถูกเกือบทุกข้อ แต่ในกระดาษคำตอบกลับตอบผิดเกือบทุกข้อซึ่งผิดปกติ เราก็เลยเอาข้อมูลการสมัครของเขามา และทำหนังสือขอข้อมูลที่หน่วยรับสมัครกองการสอบ จึงพบว่าคนกลุ่มนี้เวลาไปสมัครจะสมัครพร้อมคนอื่น อีกหลายคนประมาณ 10 กลุ่ม แต่ตอนนั้นเลขที่นั่งสอบก็ยังไม่ได้อยู่ใกล้กัน ที่นั่งสอบจะได้ก็ต่อเมื่อชำระค่าธรรมเนียมแล้ว ปกติที่จะนั่งใกล้กันมีน้อยมาก แต่ขบวนการนี้ฉลาดเขาจะนำใบสมัครทีละมากๆ จ่ายเงินทีเดียว โดยไปเวลาที่คนน้อยประมาณ 1-2 ทุ่ม เลือกธนาคารที่อยู่ในห้าง เมื่อเจ้าหน้าที่ธนาคารรับใบสมัครที่ละมากๆ ก็ยังไม่ทำรายการ จะเก็บไว้ทำตอนธนาคารใกล้ปิด เมื่อทำการชำระค่าเนียมที่ละมากๆ ในเวลาที่คนน้อย ก็จะทำให้มีโอกาสที่จะได้เลขที่นั่งสอบใกล้กัน การทำในลักษณะนี้ไม่ได้มีกลุ่มเดียว ยังมีอีกหลายกลุ่ม

ซึ่งก่อนสอบจะมีการนัดหมายตกลงกันระหว่างผู้รับจ้างเฉลยข้อสอบกับผู้สมัครที่อยากเป็นตำรวจ เพราะว่าขบวนการนี้เริ่มตั้งแต่การสมัคร ผู้สมัครที่อยากเป็นตำรวจก็ไปหาคนที่รับจ้างเฉลยข้อสอบ ซึ่งก็มีหลายสายทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จากนั้นผู้รับจ้างเฉลยข้อสอบก็จะเก็บข้อมูลของผู้สมัครไว้ จากนั้นทั้งผู้รับจ้างเฉลยข้อสอบกับผู้สมัครที่อยากเป็นตำรวจก็จะสมัครพร้อมกัน และเมื่อถึงเวลาชำระค่าธรรมเนียมที่ธนาคาร จะมีการจัดเรียงลำดับใบชำระโดยให้ใบชำระของผู้รับจ้างเฉลยข้อสอบขึ้นก่อน และตามด้วยใบชำระของผู้สมัครที่อยากเป็นตำรวจอีก 3 ใบ เว้นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้ผู้รับจ้างเฉลยข้อสอบอยู่กระจายกันในห้องสอบ

ในส่วนที่สอบผ่านไปแล้วเรานั้นก็ต้องมองว่าภาพรวมในการสอบข้อเขียนในครั้งนี้ ไม่โปรงใส่ยุติธรรม เราจะไม่ได้มองแค่ว่าใครสอบได้หรือไม่ได้ ซึ่งคนที่สอบไม่ได้ก็เสียสิทธิเหมือนกัน เราก็ต้องสอบใหม่ ก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่ว่าเรามีสิทธิ์ที่จะยกเลิกได้ตลอดเวลา โดยไม่สามารถที่จะเรียกร้องสิทธิ์อะไรได้ การยกเลิกไม่ใช่ว่าจะให้ผู้สมัครมาสมัครใหม่ เพียงแต่ให้มาสอบใหม่เท่านั้น ส่วนการป้องกันการทุจริตการสอบเราเห็นช่องว่าง คือ การสมัครสอบทางอินเตอร์เน็ตซึ่งผู้ที่สมัครจะกรอกใบสมัครเข้ามา ปกติแล้วคนที่สอบติดจะต้องมารายงานตัว ต่อจากนี้ไปเราจะต้องตรวจตั้งแต่คนที่มาสมัครทั้งหมด และถ้าเรามีการดำเนินคดีที่เฉียบขาดกับผู้ที่ร่วมทุจริต จะทำให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมาย การสอบแบบนี้ถ้าไม่มีมือปืน (ผู้รับจ้างสอบ) ก็ไม่มีทางที่จะทุจริตได้ ถ้าพวกนี้ไม่เข้ามายุ้งเกี่ยวกับวงการนี้ เชื่อว่าการสอบทุกครั้งจะบริสุทธิ์ได้

กำลังโหลดความคิดเห็น