กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนๆ ที่เดินหน้ากันมาแบบเงียบๆ ภายใน “กรมปทุมวัน” การ “ยุบรวม”กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (บช.ภ.9) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศชต.) เป็นกองบัญชาการเดียว ภายใต้ชื่อ “กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9) หรือ “บช.ภ.9” รวมทั้งการตั้งกองบัญชาการขึ้นใหม่อีก 1 แห่ง คือ “กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว” หรือ “บช.ทท.”
แม้การยุบรวม บช.ภ.9 และ ศชต. จะไม่ใช่เรื่องใหม่หรือทำให้ “ตำรวจ” ในพื้นที่ 3 จังหวัดหวั่นวิตกมากนัก เพราะข่าวการยุบ “ศชต.” มีมาอย่างต่อเนื่องหลายปี ตั้งแต่สมัย”บิ๊กน้อย”พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี นั่งเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ก็มีความพยายามจะยุบ “ศชต.”มาแล้ว แต่ครั้งนั้นพล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฏฐ์ สมัยดำรวงตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. และเป็น ผบช.ศชต.คนแรก ชี้แจงเหตุผล จนสุดท้ายแนวคิดการยุบ “ศชต.” ถูกเก็บเข้าลิ้นชักไป
"ผมกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รอง ผบ.ตร.(สมัยนั้น) และทีมงานที่ทำงานตรงนี้ คงเข้าใจชัดเจน เราตั้งศชต. ด้วยโจทย์ของปัญหา เพราะปัญหาที่ 3 จังหวัดใต้ไม่ใช่พื้นที่อาชญากรรมปกติ เป็นพื้นที่สู้รบ ดังนั้นยุทธศาสตร์ แผนงานโครงการต้องสูงกว่าที่อื่นทรัพยากรการบริหาร 4 M (Man กำลังพล Money งบประมาณ ค่าตอบแทน สิทธิจูงใจ Method วิธีการ และ Material อาวุธยุทโธปกรณ์) ก็ต้องสูงขึ้นตามไปด้วย ที่นี่ออกจากโรงพักก็มีความเสี่ยงสูง
ต้องมีทรัพยากรที่แตกต่างจากที่อื่นตอนนั้นจึงเสนอ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.ให้แยกเถอะ เพื่อแก้ปัญหา เป็นการปรับไปตามหลักการแก้วิกฤต คือการจำกัดขอบเขตของปัญหาวิกฤต ตอนนั้น พ.ร.บ.ศอ.บต. กองพลทหารราบที่ 15 ยังไม่เกิดตำรวจเป็นหน่วยแรกที่ปรับตัวเพื่อให้การบริหารงานในพื้นที่นี้มีเอกภาพ เรามี 7 กองบัญชาการมาช่วยทำงานในพื้นที่ แต่ก็ยังปล้ำไม่ค่อยอยู่ เราไม่ได้เอาปัญหาการแต่งตั้งมาเป็นตัวตั้ง เพราะเป็นเพียงปัญหาย่อยของปัญหาใหญ่ ปัญหาการบริหารบุคคลถ้า ผบ.ตร.เห็นความสำคัญท่านสั่งได้ ก.ตร.ถ้าเห็นความสำคัญก็สั่งได้ ให้เกิดการหมุนเวียนกำลังพล เราตั้ง ศชต.โดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง
ผมไม่เห็นด้วยกับการยุบรวม ศชต.กลับไปให้บช.ภ.9 เรามีแต่ต้องพัฒนา เพื่อให้ตำรวจ ศชต.มีความเข้มแข็ง ต้องทำให้วัฒนธรรมของตำรวจทั้ง 3 จังหวัดนี้ดีกว่าในพื้นที่อื่น เพราะพฤติกรรมวัฒนธรรมของตำรวจในพื้นที่อาชญากรรมปกติถูกหยิบเป็นเงื่อนไขของประชาชนชาวมลายู เงื่อนไขของการแยกดินแดน การก่อความไม่สงบ”
“ผบช.ศชต.”คนแรกแจกแจงเหตุผลการมีอยู่ของ ศชต. เอาไว้ แต่พอมีการปัดฝุ่นนำมาเดินหน้าการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ บช.ภ.9 และ ศชต. ใหม่ ด้วยการยุบรวมมาเป็นหนึ่งเดียว โดย บช.ภ.9 แห่งใหม่ จะรับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัด มี บก.อก.,บก.สส.1 รับผิดชอบ จ.สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ,บก.สส.2 รับผิดชอบ จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ,ศฝร..ภ.จ.สงขลา, ภ.จ.สตูล ,ภ.จ.ตรัง,ภ.จ.พัทลุง,ภ.จ.ยะลา,ภ.จ.ปัตตานี,ภ.จ.นราธิวาส และมีหน่วยงานระดับ กก.ที่ขึ้นตรงกับ บช. คือ กก.ปพ. รวมทั้งจัดตั้ง ศปก.ภ.9 สน. เพื่อรับผิดชอบภารกิจด้านความมั่นคง โดยมี รองผบช.ภ.9 จำนวน 1 คน ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า
คำถามที่เกิดขึ้นจาก ตำรวจชายแดนใต้ คือ การดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภายในในระดับ กองบังคับการ(บก.) เพียงพอแล้วหรือไม่ เพราะปัจจุบัน “ไฟใต้” ก็ยังโหมแรง แม้จะลดระดับลงบ้างตามข้อมูล ทว่าในทางปฏิบัติเสียงปืน เสียงระเบิด ก็ยังคงเกิดขึ้นเป็นรายวันเช่นเดิม
และการมาตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว(บช.ทท.) จำเป็นมากน้องแค่ไหน แม้การท่องเที่ยวจะเป็นรายได้สำคัญของประเทศ การดูแลความปลอดภัยให้กับ”นักท่องเที่ยว”จึงมีความจำเป็น แต่มีตำรวจท่องเที่ยวระดับ “กองบังคับการ” ก็สามารถดูแลได้ครอบคลุมทั่วถึงแล้วหรือไม่ อย่างไร อีกทั้งก็มีตำรวจพื้นที่ ตำรวจโรงพัก ดูแลอาชญากรรมแต่ละพื้นที่อีกด้วย ก็ไม่มีจุดบกพร่อง ช่องโหว่ตรงไหน หลายคงจึงสงสัยถึงเหตุผลที่แม้จริงของการยุบ ศชต. และมาตั้ง บช.ทท. ใหม่ มีอะไรในก่อไผ่หรือไม่
ยิ่งมาดูรายชื่อคณะกรรมการปรับโครงสร้างของ บช.ภ.9 และ ศชต. ที่เพิ่งมีการประชุมไปเมื่อไม่กี่วันมานี้ มี”บิ๊กจุก”พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รักษาการ รองผบ.ตร. นั่งหัวโต๊ะประธาน มีคณะทำงานประกอบด้วย “บิ๊กโอ๋”พล.ต.ต.กฤษกร พลีธัญญวงศ์ รักษาการ รองผบช.ภ.2 “บิ๊กกุ้น”พล.ต.ต.สรไกร พูลเพิ่ม ผบก.ภ.จ.สมุทรสาคร พ.ต.อ.ปราบพาล มีมงคล รักษาการ ผบก.อก.ศชต. พ.ต.อ.โมหะมะอิดือเระ สาหวี รอง ผบก.อก.ภ.9 พ.ต.อ.สมพงษ์ วิถีประดิษฐ์ รักษาการผบก.อต. และเจ้าหน้าที่ อต.
ตำรวจชายแดนใต้ก็เกิดอีกหนึ่งคำถามขึ้นมาว่า รักษาการ ผบช.ภ.2 และ ผบก.ภ.จ.สมุทรสาคร เกี่ยวข้องอย่างไรกับ บช.ภ.9 หรือ ศชต. และเหตุใดไม่มี ผบช.สกพ. หรือ ระดับ รองผบช.สกพ. มาร่วมด้วยทั้งที่สำนักงานกำลังพลเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
เพราะคนในแวดวง”สีกากี” ต่างก็รับรู้อยู่ว่า “บิ๊กโอ๋ และ”บิ๊กกุ้น” ใกล้ชิดใคร และมีบทบาทอย่างไรบ้างในช่วงการแต่งตั้งที่ผ่านมา การโผล่มีชื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ ทั้งการยุบรวม บช.ภ.9 กับ ศชต. รวมทั้งการตั้ง บช.ทท. ทั้งๆ ที่ตามตำแหน่งหน้าที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ จึงมีการวิพากษณ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตจาก”ตำวจ” ทั่วประเทศ มีลับลมคมหรือไม่...ผบ.ตร.จักรทิพย์ ชัยจินดา น่าจะมีคำอธิบายให้ลูกน้องคลายข้อคลางแคลงใจ.