MGR Online - รองปลัด ยธ.ยันกระทรวงยุติธรรมให้ความสำคัญหลักสิทธิมนุษยชน เพิ่มประสิทธิภาพส่งเจ้าหน้าที่มีประสบการณ์ลงช่วยเหลือ พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกรอบของกฎหมายไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
สืบเนื่องจากกรณีนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกจุด สร้างเงื่อนไข ชี้ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้อาจเป็นเพราะเจ้าหน้าที่รัฐได้ไปละเมิดสิทธิประชาชนในพื้นที่ อาจทำให้มีการตอบโต้ โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดละเมิดสิทธิและไม่เคยได้รับโทษ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจอย่างระมัดระวังและเป็นธรรม
ล่าสุด วันนี้ (5 พ.ย.) นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรมในฐานะเจ้าภาพกลุ่มภารกิจงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบว่า กระทรวงยุติธรรมและคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและตระหนักในสิ่งเหล่านั้นจึงจัดให้มีการประชุมร่วมกัน ทั้งกลุ่มภารกิจงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 23 หน่วย รวมถึงผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในปี 2559 และแผนการดำเนินงานในปี 2560 ของกลุ่มภารกิจฯ อีกทั้งได้รับข้อเสนอแนะการดำเนินงานด้วยการจัดระบบการเยียวยาให้เป็นธรรมทั้งระบบให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน การเพิ่มศักยภาพและบูรณาการการเก็บพยานหลักฐานของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์พนักงานสอบสวน และการเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานสอบสวนด้วยการเพิ่มอัตราที่มีประสบการณ์ลงไปอย่างเพียงพอ พร้อมได้จัดให้มีพนักงานอัยการที่มีประสบการณ์ลงไปทำหน้าที่
นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า ส่วนศาลที่มีการดำเนินคดีความมั่นคงแยกออกมาดำเนินการซึ่งมีผู้พิพากษาอาวุโสมีประสบการณ์ลงไปทำงาน โดยมีรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคลงไปตรวจสำนวน นอกจากนี้ ระยะเวลาการดำเนินคดีที่มีพยานหลักฐานพร้อมอยู่ระหว่าง 6 เดือนถึง 1 ปี ทั้งให้เพิ่มประสิทธิภาพฐานคดีความมั่นคงให้เป็นเอกภาพและมีฐานข้อมูลกลางไม่แยกส่วน อย่างไรก็ตาม ได้จัดให้มีการส่งเสริมการใช้บริการงานคุ้มครองพยานของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เช่น จัดตั้งศูนย์ประสานงาน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ อบรมเจ้าหน้าที่ ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ลงพื้นที่หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายปกครอง ตำรวจ เกี่ยวกับนโยบายคุ้มครองพยานดังกล่าวแล้ว
“สำหรับข้อห่วงกังวลด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ในปีที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการอบรมเจ้าหน้าที่ทหารในหน่วยเฉพาะกิจและตำรวจ จำนวน 3,400 คนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนและผลิตคู่มือสำหรับการปฏิบัติงาน ซึ่งยังคงมีการดำเนินการต่อเนื่องในปีถัดไป โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำหลักสูตรในการอบรมเจ้าหน้าที่รัฐร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ได้ตรงประเด็นต่อไป” นายธวัชชัยกล่าว
นายธวัชชัยกล่าวปิดท้ายว่า การดำเนินการทั้งหมดกระทรวงยุติธรรมในฐานะผู้กำกับกลุ่มภารกิจงานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องควบคุมให้ทุกหน่วยปฏิบัติอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายเพื่อปกป้องผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในพื้นที่เป็นสำคัญ และยินดีให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมทุกขั้นตอน