MGR Online - อธิบดีกรมราชทัณฑ์คาดโทษ ผบ.เรือนจำ หากพบยาเสพติดเรือนจำไหนย้ายทันที พร้อมจับมือ “อมตะนคร” ส่งนักโทษฝึกงาน
วันนี้ (12 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กรมราชทัณฑ์ จ.นนทบุรี นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นประธานการประชุมผู้บริหารงานราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ครั้งที่ 1/2560 พร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศ โดยมีนายเรืองศักดิ์ สุวารี นายนิมิต ทัพวนานต์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บัญชาการเรือนจำทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม
นายกอบเกียรติกล่าวว่า การจัดระเบียบเรือนจำเน้นย้ำเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด หากมีข่าวค้ายาเสพติดเกิดขึ้นในเรือนจำใดแล้วสืบสวนได้ว่าเป็นเรื่องจริงจะถือว่าผู้บัญชาการเรือนจำบกพร่องต้องถูกย้ายทันที หาก ผบ.เรือนจำรายใดยังปล่อยให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีกก็จะพิจารณาโทษเพิ่มเป็น 3 เท่า โดยมีความผิดทั้งวินัยและถูกดำเนินคดีอาญา รวมทั้งในส่วนปัญหาการปล่อยตัวหรือพักโทษผู้ต้องขังบางรายที่ไม่สมควรได้รับสิทธิ์นั้นตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เมื่อช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็มีอยู่รายหนึ่งที่ได้รับการปล่อยตัวออกไปแล้วและได้ไปทำร้ายผู้คนอีก ตรงนี้เราจะเน้นเรื่องการปฏิบัติกับผู้ต้องขังอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังและมีการวางแผนการปฏิบัติเป็นรายบุคคล ก็เหมือนแพทย์ที่ต้องทำตั้งแต่การตรวจ วินิจฉัยโรค และก็ให้การรักษา ตนจึงต้องการให้ผู้บัญชาการเรือนจำเน้นสร้างความเป็นระเบียบและวินัยของผู้ต้องขัง โดยมีเจ้าหน้าที่ผู้คุมคอยดูแลไม่ใช่จัดให้นักโทษดูแลกันเองเพราะจะนำมาซึ่งปัญหาผู้มีอิทธิพลหรือขาใหญ่ในเรือนจำ
นายกอบเกียรติกล่าวอีกว่า ขอให้เรือนจำได้นำเรื่องกฎเกณฑ์การจำแนกเลื่อนระดับชั้นผู้ต้องหา หรือลดระดับชั้นผู้ต้องขังมาดำเนินการใช้อย่างมีมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเตรียมลดโทษหรือปล่อยตัวผู้ต้องขังเพื่อช่วยให้มีการกลั่นกรองผู้ได้พักการลงโทษที่เหมาะสม ไม่ออกไปทำผิดอีก โดยเฉพาะนักโทษคดีสำคัญที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ คนที่ไม่สมควรปล่อยก็ไม่ต้องปล่อย เนื่องจากเมื่อช่วง 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ มีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวออกไปแล้วทำร้ายคน จึงเกิดเสียงสะท้อนจากคนในสังคมเรื่องการปล่อยตัวคนที่ไม่น่าจะปล่อยตัว หรือปล่อยตัวออกไปแล้วทำลายสังคมก่อเหตุคดีขึ้นมา
“ส่วนการเดินหน้าจัดตั้งศูนย์เรือนจำผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี หรือฮับเรือนจำนั้น โดยคัดเลือกเรือนจำหนึ่งๆจากหลายเรือนจำในกลุ่มจังหวัด ปัจจุบันทำได้ 30 กว่าแห่ง อยู่ใน 7 จังหวัด เช่น กทม. จ.นครราชสีมา จ.ขอนแก่น จ.นครศรีธรรมราช จ.พิษณุโลก จ.ลำปาง จ.สงขลา โดยศูนย์ดังกล่าวได้แยกผู้ต้องขังที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีของศาลยังไม่สิ้นสุดออกจากกลุ่มนักโทษเด็ดขาด เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพกับผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ กลุ่มผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีมีประมาณ 70,000 คน เพื่อความมีประสิทธิภาพในการดูแลผู้ต้องขัง” อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว
นายกอบเกียรติกล่าวต่อว่า กรมราชทัณฑ์วางเป้าหมายสร้างนักโทษความประพฤติดีเข้าสู่อาชีพโดยจากการพูดคุยกับ นายวิกรม กรมดิษฐ์ ผู้ก่อตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร” เพื่อส่งผู้ใกล้พ้นโทษที่ประพฤติดีเข้าทำงานในนิคมอุตสาหกรรมฯ ว่า ได้นำร่องส่งผู้ต้องขังหลายรายของเรือนจำจังหวัดชลบุรี เข้าไปทำงานก่อสร้างและทำงานในโรงงานที่ตั้งอยู่ภายในนิคมฯ รวมทั้งส่งผู้ต้องขังออกไปฝึกงานและรับงานในภาคอุตสาหกรรมเข้ามาให้นักโทษได้ฝึกเมื่อพ้นโทษออกไปจากเรือนจำแล้วสามารถทำอาชีพได้จริงและไม่กระทำผิดซ้ำอีก ล่าสุดในวันที่ 18 ต.ค.นี้จะมีผู้ประกอบการภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครมาดำเนินการพิจารณาคัดเลือกผู้ต้องขังไปทำงานด้วย