xs
xsm
sm
md
lg

ศาลออกหมายจับ “ชินวัฒน์ หาบุญพาด” เบี้ยวฟังคำสั่งคดีตั้งสถานีวิทยุชุมชนปี 55

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 4 หมื่นบาท “ธีรวัฒน์” แนวร่วมเสื้อแดง หลังร่วม “ชินวัฒน์ หาบุญพาด” ตั้งสถานีวิทยุชุมชนและเครื่องส่งสัญญาณวิทยุโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อปี 55 โดยโทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี ส่วน “ชินวัฒน์” เบี้ยวนัด ศาลสั่งออกหมายจับแล้ว

วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ห้องพิจารณา 910 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.196/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 7 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชินวัฒน์ หาบุญพาด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายธีรวัฒน์ บุญพา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต, จัดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม อันเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 มาตรา 6, 11, 22, 23

อัยการโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 26 มกราคม 55 ระบุพฤติการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 9 มกราคม - 13 เมษายน 2552 จำเลยทั้งสองได้มีและใช้วิทยุคมนาคม เครื่อง FM TRANSMITTER ที่ไม่ปรากฏหมายเลขทะเบียน ซึ่งมีคลื่นความถี่ใช้งานภาคส่งที่คลื่นวิทยุ 107.5 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมเครื่องขยายกำลังส่งตราอักษร R.V.R. รุ่น PJ. 1000 C-LCD ชนิดประจำที่ที่มีหมายเลยเครื่อง 1278 ซึ่งไม่ปรากฏทะเบียน โดยตรวจพบที่ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมผ่านคลื่น ณ อาคารเอ็มพี ทาวเวอร์ เลขที่ 731 เขตดินแดง โดยไม่ได้รับอนุญาต การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้เกิดการรบกวนความถี่วิทยุ ของสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี เหตุเกิดที่แขวงและเขตดินแดง กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ให้จำคุกนายธีรวัฒน์ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี ฐานกระทำผิดตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคมฯ มาตรา 6, 11, 23 แต่คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี และให้ริบเครื่องส่งของกลาง อย่างไรก็ตาม ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นนายชินวัฒน์ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลตามนัด ศาลจึงให้ออกหมายจับพร้อมปรับนายประกัน โดยให้จำหน่ายคดีในส่วนของนายชินวัฒน์ เลยที่ 1 ออกจากสารบบความไว้ชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวกลับมาดำเนินคดี ขณะที่ในวันนี้อัยการโจทก์ นายธีรวัฒน์ จำเลยที่ 2 และทนายความเดินทางมาศาล

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานเป็นเจ้าหน้าที่สถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการขนส่งทางน้ำ และเจ้าหน้าที่พาณิชยนาวี ผอ.กสช.เบิกความว่า หลังได้รับร้องเรียนว่ามีคลื่นแทรกรบกวนคลื่นวิทยุ 107.5 เมกะเฮิรตซ์ จึงเข้าไปตรวจสอบพบว่ามีคลื่นวิทยุชุมชนแทรกเข้ามาระหว่างออกอากาศของสถานี โดยคลื่นวิทยุชุมชนดังกล่าวถูกปล่อยออกมาจากอาคารเอ็มพีทาวเวอร์ จึงได้ขอหมายศาลเข้าตรวจค้นพบว่าเครื่องส่งสัญญาณวิทยุอยู่ชั้น 21 และมีเสาสัญญาณต่อไปที่ดาดฟ้าอาคารดังกล่าว จึงได้ประสานกองร้อยควบคุมฝูงชนเข้าตรวจค้นอาคารสามารถยึดเครื่องส่งวิทยุได้ ที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าได้เช่าพักอาศัยอยู่ชั้น 21 อาคารดังกล่าวจนหมดสัญญาเช่า ซึ่งเป็นช่วงก่อนมีคลื่นวิทยุชุมชนรบกวนคลื่นวิทยุ 107.5 เมกะเฮิรตซ์ ของสถานีวิทยุกระจายเสียง กรมการขนส่งทางน้ำ และจำเลยเช่าเฉพาะห้องพักชั้น 21 ไม่ได้เช่าดาดฟ้าซึ่งเป็นที่ตั้งเสาสัญญาณ จึงไม่ใช่การกระทำของจำเลยนั้น โจทก์มีผู้ดูแลอาคารเบิกความว่า หลังหมดสัญญาเช่าจำเลยที่ 2 ยังชำระค่าเช่าต่อโดยไม่ได้ทำสัญญา และพื้นที่ชั้นดาดฟ้าก็ไม่ใช่พื้นที่เช่าโดยตรง จึงไม่ต้องทำสัญญาเช่าก็ได้ ซึ่งคำเบิกความพยานโจทก์ยังสอดคล้องกับพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 นำชิ้นส่วนเครื่องมือมาต่อเติมระหว่างชั้น 21 และดาดฟ้า ส่วนที่จำเลยอ้างว่าเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นปรากฏว่าสายเชื่อมสัญญาณระหว่างเครื่องส่งวิทยุที่ชั้น 21 และเสาสัญญาณที่ดาดฟ้าถูกตัดออกนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าหน้าที่เข้าตรวจอาคารหลายครั้ง ซึ่งสัญญาณเชื่อมต่ออาจถูกตัดก่อนการตรวจค้นครั้งที่ 2 ก็เป็นได้

ส่วนที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ให้สิทธิจำเลยจัดตั้งสถานีวิทยุได้นั้น ขณะที่จำเลยที่ 2 ใช้เครื่องส่งวิทยุและเสาสัญญาณยังไม่มีองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวกำหนดให้มีองค์กรทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับอนุญาตให้มีหรือใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม จำเลยจึงกระทำผิดตามฟ้อง แต่ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิด 2 กรรมนั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จำเลยกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานร่วมกันมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต, จัดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ลงโทษ และจงใจกระทำให้เกิดการรบกวนหรือขัดขวางต่อการวิทยุคมนาคม ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 1 ปี 4 เดือน ปรับ 4 หมื่นบาท แต่การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นเหตุร้ายแรง อีกทั้งจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น