MGR Online - “ดีเอสไอ” ออกเอกสารหลังสาวกธรรมกายนำคำพิพากษาศาลปกครองคดีสหกรณ์คลองจั่นไปบิดเบือน อ้างว่าเรื่องการบริหารสหกรณ์ต้องร้องต่อศาลปกครองเท่านั้น ระบุคดีนี้มีทั้งประเด็นทางปกครอง และคดีอาญาที่ศิษย์เอกธรรมกายฉ้อโกงประชาชนอยู่ในอำนาจดีเอสไอที่จะดำเนินคดี
วันนี้ (27 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงกรณีมีบุคคลนำคำพิพากษาของศาลปกครองไปขยายความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง โดยระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวที่มีบุคคลนำคำพิพากษาของศาลปกครองกรณีสั่งให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เพราะเหตุละเลยต่อหน้าที่ในการไม่ตักเตือนคณกรรมการบริหารสหกรณ์ ปล่อยเงินกู้จนขาดสภาพคล่อง และนำบางตอนของคำพิพากษามานำเสนอ และอธิบายว่าเรื่องการบริหารสหกรณ์ต้องร้องเรียนต่อศาลปกครอง ไม่ใช่ ปปง. หรือดีเอสไอ รวมทั้งมีการสรุปและเสนอความเห็นขยายความเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่าเหตุใดกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นคดีอาญา นั้น
กรมสอบสวนคดีพิเศษเห็นว่า เพื่อให้สาธารณชนได้ทราบข้อเท็จจริงประกอบการใช้วิจารณญานในการรับข่าวสารในเรื่องดังกล่าว จึงนำเสนอเป็นประเด็นเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ ดังนี้
1. คำพิพากษาตามที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นเรื่องที่มีการนำผลคดีปกครองที่มีการยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐ คือ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในความผิดละเลยต่อหน้าที่ ที่ศาลปกครองวินิจฉัยให้ชดใช้ค่าเสียหาย อันเป็นเรื่องทางปกครอง มิใช่ผลคดีทางอาญา
2. คดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเป็นคดีอาญาที่ดำเนินคดีต่อตัวบุคคล คือ นายศุภชัย ศรีศุภอักษร (ผู้สนับสนุนทางการเงินรายใหญ่แก่วัดพระธรรมกาย) กับพวก ลักทรัพย์สหกรณ์ฯ และฉ้อโกงประชาชน รวมทั้งความผิดอาญาฐานฟอกเงิน กับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเงินที่ได้จากการกระทำผิดดังกล่าว มิใช่เรื่องที่หน่วยงานของรัฐกระทำต่อประชาชน หรือต่อรัฐด้วยกันในทางปกครองที่ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษา
3. การดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีระบบตรวจสอบ ถ่วงดุลย์ ระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ ซึ่งหากเป็นการสอบสวนในเรื่องตามข้อ 2 โดยไม่มีอำนาจ พนักงานอัยการจะไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล เนื่องจากกฎหมายบัญญัติห้ามไว้ แต่ที่ผ่านมาปรากฏชัดเจนว่าคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาที่เกี่ยวกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น บางคดีมีการฟ้องคดีต่อศาลจนมีคำพิพากษาไปแล้ว และยังมีอีกหลายคดีมีการดำเนินคดีอยู่ในชั้นอัยการ และชั้นสอบสวน จึงเป็นเครื่องยืนยันว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีอาญาในเรื่องนี้ เพื่อนำผู้กระทำผิดมาฟ้องร้องลงโทษตามกฎหมาย
4. การพิจารณาคดีของศาลปกครองเป็นการรับฟังพยานหลักฐานของคู่ความคือผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้อง เพื่อพิสูจน์ในประเด็นพิพาททางปกครองเท่านั้น และคำพิพากษาผูกพันเฉพาะคู่ความ
การที่นำคำพิพากษาของศาลปกครองไปอธิบายเชื่อมโยงกับคดีอาญาที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลปกครองโดยอาศัยความคิดของตน อาจทำให้สังคมสับสน อย่างไรก็ตาม กรมสอบสวนคดีพิเศษจะนำคำพิพากษาดังกล่าวมาศึกษาและชี้แจงทำความเข้าใจให้สังคมรับทราบต่อไป
อนึ่ง เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้สนับสนุนวัดพระธรรมกายได้เผยแพร่ข้อความที่อ้างว่าเป็นบทวิเคราะห์กรณีศาลปกครองมีคำพิพากษาให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ในมูลฐานความผิดที่ไม่ตักเตือนคณะกรรมการบริหารสหกรณ์ ปล่อยเงินกู้ให้แก่สมาชิกจนเกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยอ้างว่าคดีนี้ผู้เสียหายคือสมาชิกสหกรณ์ ไม่ใช่แผ่นดินเป็นผู้เสียหาย คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญาแผ่นดิน และคดีสหกรณ์เป็นปัญหาที่เกิดจากการบริหารภายในสหกรณ์ ไม่ใช่ปัญหาจากภายนอกสหกรณ์ เมื่อเป็นปัญหาการบริหารสหกรณ์ สมาชิกต้องร้องเรียนปัญหาสหกรณ์กับศาลปกครอง ไม่ใช่ไปร้องเรียนกับ ปปง. หรือดีเอสไอ
นอกจากนี้ยังอ้างว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องของสหกรณ์นั้น วัดพระธรรมกายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว เพราะวัดพระธรรมกายมิใช่ผู้บริหารสหกรณ์ ไม่มีอำนาจในการอนุมัติเงินกู้ของสหกรณ์ ให้แก่สมาชิกรายใดแม้แต่คนเดียว ส่วนการบริจาคของคุณศุภชัยนั้น เป็นการบริจาคโดยส่วนตัว และวัดพระธรรมกายก็ไม่ทราบความเป็นมาของเงิน เพราะถือว่าเป็นสิทธิของผู้บริจาคที่ไม่จำเป็นต้อง บอกเส้นทางการเงินของตัวเองให้ผู้อื่นทราบ