xs
xsm
sm
md
lg

อัยการแฉเล่ห์ทนายธรรมกายต่อรอง “ธัมมชโย” มอบตัว ล่อเจ้าหน้าที่ผิด ม.157

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายสอบสวน 3 (แฟ้มภาพ)
MGR Online - อัยการคดีธัมมชโย เผยทนายธรรมกายส่งหนังสือขอเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวนแล้ว คาด 10 มิ.ย.พิจารณา ยินดีเปลี่ยนหากเป็นคำสั่งผู้บังคับบัญชา ยันต่อรองเรื่องมอบตัวไม่ได้ แฉทนายสร้างประเด็นให้แจ้งข้อหาในวัด ล่อเจ้าหน้าที่ทำผิด ม.157

สืบเนื่องจากกรณีวัดพระธรรมกายยื่นเงื่อนไขในการตกลง 3 ฝ่าย ที่วัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี โดยมีหนึ่งในเงื่อนไขขอให้เปลี่ยนตัวคณะพนักงานสอบสวนบางราย ในคดีพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาฐานความผิดฟอกเงิน ร่วมกันสมคบฟอกเงิน และรับของโจร

ล่าสุด วันนี้ (9 มิ.ย.) นายขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักการสอบสวน เผยว่า ทนายความวัดพระธรรมกายได้ทำหนังสือร้องต่อคณะพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว เพื่อขอให้เปลี่ยนตัวตนเอง และ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดี การเงิน การธนาคาร ดีเอสไอ คาดว่า วันที่ 10 มิ.ย.นี้ คณะพนักงานสอบสวนจะมีการหยิบยกประเด็นนี้มาหารือในที่ประชุม ทั้งนี้ หากมีการปรับตนออกจากคณะพนักงานสอบสวน ตนไม่มีปัญหาแต่อย่างใด พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ยืนยันว่าการทำหน้าที่ไม่มีสองมาตรฐาน การเจรจา 3 ฝ่ายเป็นวิธีดำเนินการทางปกครองสงฆ์ที่สามารถทำคู่ขนานไปกับการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย

“ยืนยันว่าพระธัมมชโยไม่สามารถต่อรองได้ แต่อาจเป็นเรื่องเจรจาว่าจะมีรายละเอียดมอบตัวกันอย่างไร ความจริงแล้วเรื่องไม่ควรขยายใหญ่โตจนวันนี้พูดประเด็นว่าจะต้องให้ประกันตัวทันทีหากมอบตัว เพราะความจริงหากพระธัมมชโยมาเซ็นชื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในระยะเวลาตามกำหนด ทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอก็พร้อมจะปล่อยตัวไป และสู้คดีในศาลตามที่เคยแจ้งไว้ ทางทนายความของพระธัมมชโย และทีมวัดพระธรรมกายพยายามที่จะวางประเด็นขุดบ่อล่อให้เจ้าพนักงานเกิดแผล ดังนั้น พนักงานสอบสวนต้องระมัดระวังทุกขั้นตอนไม่ให้เกิดเหตุทำผิดมาตรา 157 ยืนยันว่า ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการพละการซึ่งดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีทุกประการ” นายขจรศักดิ์กล่าว

นายขจรศักดิ์กล่าวอีกว่า การที่ผู้ต้องหาจะมอบตัวในวัดนั้น เจ้าพนักงานอาจมีความผิดอาญามาตรา 157 เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตนยืนยันว่าถ้าเป็นพนักงานสอบสวนคดีพระธัมมชโยก็จะไม่ยอมให้มีการทำผิดกฎหมาย เพราะพระธัมมชโยต้องได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่เช่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้นถ้าคดีอื่นที่ผู้ต้องหาถูกออกหมายจับแล้วก็ต่อรองให้ไปแจ้งข้อกล่าวหาที่บ้าน ที่พักอาศัย ที่เซฟเฮาส์ แล้วต้องได้ประกันตัวด้วย

นายขจรศักดิ์กล่าวต่อว่า ขณะนี้คดีพระธัมมชโยได้ล่วงเลยมาถึงขั้นตอนออกหมายจับแล้ว พนักงานสอบสวนก็ต้องปฏิบัติกับผู้ต้องหาตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยต้องส่งสำนวนคดีพร้อมนำตัวผู้ต้องหาให้อัยการสั่งฟ้อง แต่กรณีไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องอัยการได้ สามารถทำรายงานเหตุการณ์ให้ศาลทราบว่าทางพนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตามศาลอนุมัติหมายจับแล้ว ไม่ถือว่าละเว้นปฏิบัติหน้าที่ หากมีการเข้าไปจับตัวผู้ต้องหาแล้ว มีการประเมินว่า จะเกิดการสูญเสียขึ้นมาก็จะกลายเป็นการทำเกินกว่าเหตุ ดังนั้น ทางคดีก็ดำเนินการส่งฟ้องไปและผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับแล้ว ถือว่าอยู่ภายใต้ควบคุมอำนาจรัฐ ถ้ากรณีที่สามารถจับตัวได้ และผู้ต้องหามีอาการป่วยจะต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจเพื่อรักษาจนอาการดีขี้น จากนั้นศาลจะสั่งให้พนักงานสอบสวนนำตัวส่งศาลตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น