xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาสั่ง “ยุทธ ตู้เย็น” คืนเงินสภา 6 แสนบาท หลังถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร (แฟ้มภาพ)
MGR Online - ศาลฎีกาสั่ง “ยงยุทธ ติยะไพรัช” อดีต ประธานสภา ส่งเงินประโยชน์เพิ่มเติมเดือนละ 5 หมื่น คืน สนง. เลขาธิการสภา รวมกว่า 6 แสน หลังถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี 51

ที่ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (10 พ.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร, นายกมล บันไดเพชร อดีตที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นายนาวิน บุญเสรฐ อดีตเลขานุการประธานรัฐสภา เป็นจำเลยที่ 1 - 3 กรณี นายยงยุทธ จำเลยที่ 1 ถูกศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง เมื่อเดือน ก.ค. 51 มีผลให้สมาชิกภาพ ฐานะ ส.ส. สิ้นสุดลง โจทก์จึงขอให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทน ที่ได้รับระหว่างดำรงตำแหน่ง พร้อมดอกเบี้ยให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โจทก์ 1,100,736 บาท

คดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษาให้ นายยงยุทธ จำเลยที่ 1 คืนเงินให้ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โจทก์ เป็นเงิน 610,680.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วน นายกมล และ นายนาวิน จำเลยที่ 2 - 3 ให้ยกฟ้อง ขณะที่ศาลอุทธรณ์พิพาษายืนตามศาลชั้นต้น ต่อมาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โจทก์ และ นายยงยุทธ จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 50 มีการเลือกตั้ง ส.ส. และ นายยงยุทธ จำเลยที่ 1 ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ กลุ่มที่ 1 จังหวัดเชียงราย และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง นายยงยุทธ จำเลยที่ 1 แต่งตั้ง นายกมล จำเลยที่ 2 เป็นที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร และแต่งตั้ง นายนาวิน จำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต่อมาศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของนายยงยุทธ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 51

เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 92 ตอนท้าย บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีออกจากตำแหน่ง เพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้ง หรือสรรหามาโดยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมา เนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เมื่อ นายยงยุทธ จำเลยที่ 1 พ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุได้รับเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายยงยุทธจำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินเพิ่มที่ได้รับในอัตราเดือนละ 50,000 บาท ให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โจทก์

สำหรับนายกมล จำเลยที่ 2 และ นายนาวิน จำเลยที่ 3 เพียงดำรงตำแหน่งจากคำสั่งแต่งตั้งของนายยงยุทธ จำเลยที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่ามีคำสั่งแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายกมล จำเลยที่ 2 และนายนาวิน จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็น ส.ส. จึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 92 ของรัฐธรรมมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงไม่ต้องคืนเงินให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โจทก์ ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3
 

กำลังโหลดความคิดเห็น