ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหายาเสพติดที่แพร่ระบาดลงทุกย่อมหญ้าของสังคม นับวันยิ่งทวีความรุนแรง โดยเฉพาะภาคเหนือถือเป็นแหล่งลักลอบขนสิ่งผิดกฎหมายจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาและบางบริเวณยังแอบปลูกพืชเสพติดตามป่าเขาที่ห่างไกลไม่มีเส้นคมนาคมเข้าถึงทำให้การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างยากลำบาก อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จุดเป้าหมายของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพื้นที่การเฝ้าระวังยาเสพติดจากอีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะปัญหา"ฝิ่น"นับเป็นสารเสพติดอันตรายที่มีการใช้กันมาก สามารถแปรรูปเป็นสารตั้งต้นยาเสพติดประเภทเฮโรอีน
แต่หากมองย้อนไปเมื่อร้อยปีก่อนถือว่าเป็นพืชที่ชาวเขาเผ่าต่างๆ นิยมใช้กันมาหลายชั่วอายุคนเพื่อบรรเทาอาการปวดตามร่างกาย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ ไม่สบายหรือเป็นไข้ และหากเกิดบาดเจ็บหนักต้องเดินทางไกลส่งโรงพยาบาลก็ใช้ "ฝิ่น" ช่วยระงับอาการปวด รวมทั้ง ใช้ในการไหว้เจ้าไหว้ผีตามความเชื่อประเพณี ทำให้การยกเลิกต้องค่อยปรับทัศนคติ
การสำรวจพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นในประเทศไทย โดยสำนักงาน ป.ป.ส. เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 ช่วงแรกเป็นไปอย่างยากลำบากเนื่องจากคมนาคมที่ไม่สะดวก รวมทั้ง ยังพบว่าผู้ลักลอบจะย้ายพื้นที่แปลงปลูกฝิ่นเสมอ ช่วงระหว่าง พ.ศ.2522 -2523 พบว่ามีพื้นที่ปลูกฝิ่น 26,440 ไร่ และแปลงฝิ่นมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ต่อมา พ.ศ. 2527-2528 ทางสำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่นครอบคลุมทั่วประเทศ พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 54,854 ไร่ และในปีเดียวกันนี้เองเริ่มมีการตัดทำลายพื้นที่ปลูกฝิ่น โดยทาง สำนักงาน ป.ป.ส. ประสานงานกับ กองทัพภาคที่ 3 และ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 3
ผลของการสำรวจพื้นที่ปลูกฝิ่นส่งผลให้การตัดทำลายฝิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับความเข้มงวดและจริงจังของมาตรการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดของรัฐบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 เป็นต้นมา ทำให้นายทุนและผู้ปลูกเกรงกลัว พื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นจึงลดลงอย่างมาก โดยเปรียบเทียบจากห้วงปี พ.ศ.2545-2546 ซึ่งมีพื้นที่ปลูก 5,265.58 ไร่ ลดลงเหลือเพียงประมาณ 1,981.69 ไร่ ในปี พ.ศ.2557-2558
นายณรงค์ รัตนานุกุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อม นางนฤมล ช่วงรังษี รอง เลขาธิการ ป.ป.ส. นายวิชัย ไชยมงคล ผอ.ป.ป.ส. ภาค 5 นายพิภพ ชำนิวิกัยพงศ์ ผอ.สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด (สพส.) ร่วมด้วย ทหารจากกองทัพภาคที่ 3 และ คณะสื่อมวลชน เดินทางด้วยรถกระบะโฟร์วิลไปยังพื้นที่แอบลักลอบปลูกฝิ่น ณ หมู่บ้านห้วยบง ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ หลังตรวจสอบพบว่ามีพื้นที่ปลูกฝิ่นประมาณ 40 ตร.ม. หากนำไปแปรรูปจะได้เฮโรอีน 1 กิโลกรัม ก่อนเจ้าหน้าที่ช่วยกันตัดทำลายทิ้งทั้งหมด สำหรับ หมู่บ้าน ห้วยบง ต.นาเกียน อ.อมก๋อย ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง ประกอบอาชีพทางการเกษตรแต่ยังมีบางพื้นที่ลักลอบปลูกฝิ่นอยู่ในบริเวณห่างไกล ปลูกเป็นแปลงเล็กๆ ซ่อนอำพราง อาศัยธรรมชาติบดบังไหล่เขาจึงยากต่อการตรวจสอบ ส่วนสาเหตุการปลูกฝิ่นมาจากความยากจนของคนในพื้นที่ห่างไกล ภูมิประเทศเอื้ออำนวยต่อการปลูกฝิ่นและความต้องการด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกหนาแน่นของเขต อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ จะติดต่อเขต อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อุปสรรคปัญหาในการดำเนินงานพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่เส้นทางคมนาคมยากลำบาก การเข้าถึงพื้นที่ใช้เวลาในการเดินทางมากต้องอาศัยอากาศยานในการเดินทาง ซึ่งสภาพอากาศในปัจจุบันนั้นไม่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะปัญหาสภาพอากาศปิด ไม่สามารถใช้อากาศยานในการเดินทางได้จึงทำให้การเข้าตรวจสอบพื้นที่นั้นยากกว่าเดิม
นายณรงค์ กล่าวว่า เดิม อ.อมก๋อย มีการปลูกฝิ่นราว 50,000 - 60,000 ไร่ แต่ปัจจุบันลดลงเหลือไม่ถึง 2,000 ไร่ ปัจจุบันปลูกได้ประมาณ 75 วันก็ดำเนินการกรีดแล้วเนื่องจากความต้องการมากขึ้น แต่หากเป็นเมื่อก่อนจะปลูกไว้ถึง 120 วันหรือ 4 เดือน ซึ่งการปลูกในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่ปลูกเพื่อเสพเองและส่งขายเพียงเล็กน้อย “กระทั่งเจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามอย่างหนักส่งผลให้พื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงชัดเจน ผู้ปลูกจำนวนมากกลับใจและเข้าสมัครร่วมโครงการปลูกพืชทดแทน พร้อมให้ความรู้การศึกษา สาธารณูปโภค แต่ยังคงมีบางส่วนที่ลักลอบปลูกฝิ่นอยู่และยังสืบสวนทราบว่ามีนายทุนสนับสนุนเนื่องจากเชื่อว่าชาวเขาชาวบ้านน่าจะปลูกเองไม่ได้เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายหลายอย่าง อาทิ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง การทำระบบน้ำ แต่ก็ได้ส่งทหารเข้าไปควบคุมดูแลแทน” นายณรงค์ กล่าวปิดท้าย
ปัจจุบันพื้นที่ปลูกฝิ่นลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จากการสำรวจของ ป.ป.ส. พบว่าปีนี้มีพื้นที่ปลูกฝิ่นประมาณ 1,200 ไร่ ลดลงจากเดิมเกือบ 2,000 ไร่ ตัดทำลายประมาณร้อยละ 98 ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด นอกจากนี้ ป.ป.ส. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเข้าร่วมดำเนินการด้านอื่นๆ อาทิ การบำบัดรักษาผู้เสพ เสริมสร้างอาชีพและรายได้ การพัฒนาสภาพแวดล้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายและการยึดทรัพย์ คาดว่าอนาคตการลักลอบปลูกฝิ่นจะหมดไปจากประเทศไทย