xs
xsm
sm
md
lg

จนท.วสท. - กทม. ลง พท.ตรวจอาคารพัก ซ.นราธิวาสฯ 18 พบชั้น 7 พื้นพัง-คานร้าว คาดสรุปผลใน 7 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - นายกวิศวกรรมแห่งประเทศไทย - เจ้าหน้าที่ กทม. เข้าตรวจสอบอาคารพักที่เกิดเพลิงไหม้ในซอยนราธิวาสฯ 18 “ศ.ดร.สุชัชวีร์” เผย ต้นเพลิงชั้น 3 ใกล้ห้องครัวลามไปอย่างรวดเร็วทางบันไดชั้น 4 - 7 พบชั้น 7 เสียหายรุนแรง พื้นพัง คานร้าว ไม่สามารถพักอาศัยได้เหมือนเดิม คาด ตรวจโครงสร้างอาคารทั้งหมดไม่เกิน 7 วัน ขณะที่การตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันไฟไหมไม่พบ เนื่องจากสร้างตั้งแต่ปี 2534 ยังไม่มีกฎหมายควบคุม

วันนี้ (7 ก.พ.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่บ้านเลขที่ 2204/5 ซอยนราธิวาสฯ 18 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เขตยานนาวา กทม. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย ศ.ดร.อมร พิมาณมาศ เลขาสภาวิศวกร นายวัสวัตติ์ กฤชศิริธีรภาคย์ เลขาสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยของอาคาร และนายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ รองปลัด กทม. เข้าตรวจสอบภายในอาคารที่เกิดเหตุ เพื่อหาเตรียมทำมาตราฐานความปลอดภัยภายในอาคาร

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า หลังจากเกิดเหตุที่อาคารดังกล่าว อาคารที่เกิดเหตุนั้น ในทางวิศวกรรมสามารถแบ่งความเสียหายเป็น 3 ระดับ ประกอบด้วย 1. เสียหายระดับรุนแรง คือ ความเสียหายเกินกว่า 8 ชั่วโมง โดยสังเกตได้จาก ฝ้ายุบตัวลง ผนังเอียง เป็นต้น 2. เสียหายระดับเฝ้าระวัง คือ อาคารที่ถูกไฟไหม้ไม้เกิน 3 - 4 ชั่วโมง สังเกตได้จากพื้นอาคารแอ่นตัว คอนกรีดที่ติดกับผิวเหล็กในจุดที่ไม่ได้รับน้ำหนักมาก กะเทาะร่อน เป็นต้น และ 3. เสียหายระดับที่ต้องตรวจสอบเชิงลึก คือ อาคารที่ถูกไฟไหม้ไม่เกิน 30 นาที สังเกตได้จากจะมีรอยแตกร้าว และเขม่าควัน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวอีกว่า ก่อนจะเข้าไปตรวจสอบอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ตนได้นำทีมวิศวกรรมลาดกระบัง พร้อมเครื่องมือเข้ามาตรวจสอบตัวอาคาร ว่า ความเสียหายมากน้อยเพียงใด ซึ่งในการตรวจสอบก็จะประเมินด้วยสายตา จากต้นกำเนิดเพลิง เช่น เสาคอนกรีต พื้นมีรอยแตกร้าวมากน้อยเพียงใด แล้วจะทำโครงสร้างแบบแผนขึ้นมาว่าตัวอาคารที่เกิดเหตุจะต้องปรับปรุงแก้ไข หรืออันตราย หรือทุบทิ้งทำลาย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ได้เข้ามาตรวจสอบสาเหตุแล้ว ต่อไปจะต้องเป็นหน้าที่ของวิศวกรรมที่จะต้องเข้ามาตรวจสอบอาคารดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ต่อมาเมื่อเวลา 13.30 น. ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าวว่า จากการประเมินด้วยสายตา เบื้องต้นพบต้นเพลิงมาจากบริเวณชั้น 3 ด้านทิศตะวันตก ใกล้กับห้องครัว โดยไฟลุกลามอย่างรวดเร็วไปทางบันไดชั้น 4 - 7 และพบว่า ชั้น 7 มีความเสียหายรุนแรงที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่วิบัติ หรือคานมีรอยร้าวชัดเจน จึงไม่สามารถใช้การได้เหมือนเดิม ซึ่งจากการตรวจสอบสามารถระบุได้ว่า ชั้น 1 - 2 สามารถซ่อมแซม ปรับปรุง และอยู่ได้ตามปกติ ส่วนชั้น 3 - 7 ควรจะได้รับการตรวจสอบเป็นพิเศษ เนื่องจากคอนกรีดร่อน และเริ่มเห็นเหล็กข้างใน และชั้น 8 เป็นชั้นที่จะต้องควบคุม เพราะได้รับความเสียหายมากที่สุด ส่วนการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ในการตรวจสอบนั้น คาดว่า จะใช้เวลาในการตรวจสอบถึงโครงสร้างต่าง ๆ ภายในอาคารไม่เกิน 7 วัน

จากการตรวจสอบ เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปภายในอาคาร ไม่พบสปริงเกอร์ ถังดับเพลิง สัญญาณเตือนไฟ บันไดหนีไฟ เครื่องจับควัน เนื่องจากอาคารดังกล่าวสร้างตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีกฎหมายควบคุมอาคารออกมา

ด้าน ศ.ดร.อมร กล่าวว่า วันนี้เป็นการตรวจสอบทางสายตา โดยมุ่งเน้นพื้นที่ต้นเพลิง พบว่า เสา และ คาน ไม่มีความเสียหายมาก ซึ่งร้อยละ 5 ของพื้นมีการกะเทาะ เหล็กเส้นยังไม่เสียรูป ส่วนความสมดุลของอาคาร สามารถรับน้ำหนักได้ ส่วนการซ่อมแซมนั้น อาจทำได้ด้วยการปูพื้นใหม่

ด้าน นายภัทรุตม์ กล่าวว่า โดยรวมอาคารมีความมั่นคง แข็งแรง สภาพสามารถซ่อมแซม และกลับมาใช้งานได้ปกติ ส่วนการเข้มงวดกับเจ้าของอาคารนั้น ทางเจ้าหน้าที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีกับเจ้าของอาคารมาโดยตลอด ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นการสร้างความตระหนักให้กับทุกฝ่าย

ด้านผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่เจ้าหน้าที่ขึ้นไปตรวจสอบตัวอาคารนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาคอยรักษาความปลอดภัย และห้ามไม่ให้สื่อมวลขึ้นไปทำข่าว เนื่องจากว่าอาคารที่เกิดเพลิงไหม่ มีความเสียหายหลายส่วน และคาดว่า จะใช้เวลา 1 - 2 ชั่วโมงในการตรวจสอบ















 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น