ASTV ผู้จัดการ - สองวัยรุ่นสาวที่ได้รับบาดเจ็บจากจักรยานยนต์ล้มขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.บางนาตั้งด่าน ยอมรับแล้วล้มเองเพราะกลัวถูกจับเหตุไม่สวมหมวกกันน็อก ด้านน้าชายโร่เข้าพบตำรวจขอโทษ หลังฟังความข้างเดียวจากหลานสาว
สืบเนื่องกรณีมีผู้เผยแพร่คลิปวิดีโอและข้อความว่าหญิงสาววัยรุ่นได้รับบาดเจ็บจักรยานยนต์ล้มคว่ำจากการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในพื้นที่ สน.บางนา บริเวณสุขุมวิท 105 เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนั้น
วันนี้ (12 ต.ค.) เวลา 12.00 น. พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.ดูแลงานจราจร เดินทางมา สน.บางนา เพื่อสอบปากคำ น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี พร้อมด้วยนายบุญเรือง ลุรอด อายุ 54 ปี บิดา และนายเฉลิมพงษ์ ปทะมาสิวิน อายุ 31 ปี น้าชาย และผู้โพสต์ข้อความการปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านตรวจของตำรวจ สน.บางนา โดยมี พ.ต.อ.อุดม ธุระงาน ผกก.สน.บางนา และ พ.ต.ท.ศักดิพัฒน์ ลิคามินทร์ พงส.ผนพ.สนงบางนา ร่วมรับฟังคำชี้แจง
พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวว่า หลังจากมีการเผยแพร่ภาพวิดีโอประเด็นดังกล่าวลงในโซเซียลมีเดียทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเจ้าหน้าที่ตั้งด่านลอย แต่เมื่อมาตรวจสอบเอกสารพบว่าเป็นด่านตรวจแอลกอฮอล์ และด่านตรวจรถแข่ง ดำเนินการตั้งช่วงเวลา 01.00-03.00 น. โดยผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นเยาวชนอายุ 15 และ 16 ปี ขับขี่ซ้อนจักรยานยนต์มากัน 2 คน ช่วงประมาณเวลา 02.10 น.ของวันที่ 8 ต.ค. ไม่สวมหมวกกันน็อกและไม่มีใบขับขี่ เมื่อถึงด่านมีการเร่งเครื่องจนทำให้จักรยานยนต์พุ่งชนป้ายล้อเลื่อนและได้รับบาดเจ็บทั้งคู่ ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจนำส่ง รพ.สิรินธร ก่อนย้ายไป รพ.กล้วยน้ำไท 1 ซึ่งตรวจสอบแล้วไม่มีการขว้างกรวยตามที่โพสต์แต่อย่างใด
พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวอีกว่า ได้ทำการตรวจสอบเอกสารการตั้งด่านต่างๆ นั้นถือว่าทำถูกทุกประการ มีหัวหน้าระดับ สว.จร.ควบคุม มีป้ายไฟและการตั้งกรวยชัดเจน ไม่ได้มีการกลั่นแกล้งประชาชนแต่อย่างใด นอกจากนี้ หากเจ้าหน้าที่พบว่าการโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จลงในระบบคอมพิวเตอร์ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 ผู้กระทำความผิดจะมีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“วันนี้ตำรวจร้อยเวรจะทำการสอบปากคำเพิ่มเติมผู้บาดเจ็บและผู้โพสต์ข้อมูลลงระบบคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมเพื่อดูเจตนาว่ามีการตั้งใจหรือไม่ หากมีเจตนาที่ให้ร้ายองค์กรตำรวจอาจมีการดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บนั้นไม่ได้สวมหมวกกันน็อก และไม่มีใบขับขี่ ถือว่าผิดก็ต้องบังคับใช้กฎหมายให้ถูกต้องเช่นกัน”
พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามนโยบายของ ผบ.ตร.มีคำสั่งให้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีและไม่รังแกประชาชน ขณะนี้ยกเลิกการตั้งด่านลอยเรียบร้อยแล้ว แต่หากมีการตั้งต้องดำเนินการให้ถูกต้อง มีหัวหน้าควบคุมด่านระดับ สว.จร.ขึ้นไปดูแล พร้อมระบุสถานที่วันเวลาชัดเจน และรายงานผู้บังคับบัญชาระดับ บก.น.ให้ทราบ หากภาพลักษณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเสียหาย ประชาชนจะขาดความไว้วางใจและขาดความเชื่อมั่นต่อการทำหน้าที่เช่นกัน
นอกจากนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือสอบถามข้อมูลสามารถโทร.เบอร์ 1197 เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการเดินทาง แจ้งเหตุ การตั้งด่านลอย โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับรอง ผบก.น.รับสายเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
ด้านนายบุญเรืองเผยว่า ส่วนใหญ่ลูกสาวไปไหนไม่ค่อยได้บอกกล่าวเนื่องจากนอนกันคนละห้องและไม่ชอบรับโทรศัพท์เวลาออกไปนอกบ้าน วันเกิดเหตุลูกสาวกลับเข้ามาบ้านแล้วแต่ออกไปอีกครั้งเพื่อจะส่งเพื่อนจึงเกิดเหตุขึ้น แต่เมื่อมาเห็นหลักฐานและรับฟังคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้ติดใจอะไรเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว
น.ส.เอกล่าวว่า ตนเพิ่งรู้จักกับคนขี่จักรยานยนต์มาประมาณ 2 อาทิตย์ เพราะรู้จักกับของพี่สาวของคนขับขี่ วันเกิดเหตุได้ซ้อนจักรยานยนต์ผ่านด่านตรวจบริเวณดังกล่าวเมื่อมาถึงคนขับขี่รู้สึกตกใจกลัวถูกจับจึงเร่งเครื่องพยายามหนีก่อนประสบอุบัติเหตุดังกล่าว
ทางด้านนายเฉลิมพงษ์เผยว่า วันเกิดเหตุตนกลับมาบ้านประมาณ 22.00 น.ของวันที่ 7 ต.ค. ทราบว่าหลานเอากุญแจจักรยานยนต์ไปขับขี่กับเพื่อน จนกระทั่งช่วงเช้าช่วงเช้าประมาณ 08.00 น.ของวันที่ 8 ต.ค.มีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาแจ้งว่านำตัวเด็กส่ง รพ.กล้วยน้ำไท 1 จึงเดินทางมาดูหลาน แต่ไม่ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่
“ผมได้ฟังความข้างเดียวของหลานบอกว่ามีคนวิ่งตามและปากรวยใส่จึงตกใจบีบคันเร่งเครื่องหนีจนชนแผงกั้นเหล็กตามคำพูดของเด็ก แต่ที่ปล่อยเวลานานกว่า 7 ชั่วโมงนั้นเพราะเด็กกลัวที่บ้านจะต่อว่า ซึ่งการโพสต์นั้นต้องยอมรับทำไปด้วยอารมณ์ อย่างไรก็ตาม หลังจากมาฟังคำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ ก็ต้องกราบขอโทษจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด”