ASTV ผู้จัดการ - รอง ผบช.น.เรียกระดม ผกก.-รอง ผกก.ป.-สวป. 88 สน. รวม 264 นาย กำชับนโยบายป้องกันปราบปรามอาชญากรรมให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หวังสร้างภาพลักษณ์ตำรวจให้ประชาชนมั่นใจ ยันกรณีส่วนแบ่งจากใบสั่งตำรวจไม่ได้จับเพื่อล่ารางวัล เผยได้ส่วนแบ่งน้อยมาก สัปดาห์หน้าเริ่ม “ล็อกล้อทั่วกรุง-ยกรถทั่วกรุง”
วันนี้ (6 ต.ค.) ที่ห้องประชุมใหญ่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น. เรียกประชุมงานป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับ ผกก., รอง ผกก.ป. และ สวป.ทั้ง 88 สน. จำนวนทั้งสิ้น 264 นาย เข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมใหญ่ บช.น. เพื่อชี้แจงงานป้องกันและปราบปรามให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุก 88 สน.ไปดำเนินการและปฏิบัติ
พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวว่า สืบเนื่องมาจาก พล.ต.ต.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น.ได้มอบหมายตนให้ดูแลงานจราจร และงานป้องกันและปราบปราม หลังจากตนได้ไปสรุปงานจราจรเสร็จสิ้นแล้ว วันนี้จึงได้นัดหมายงานป้องกันปราบปรามมาพูดคุยกันเพื่อมอบนโยบายและนำนโยบายที่ท่าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. และ พล.ต.ต.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. สู่การปฏิบัติเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์ โดย ผบ.ตร.ได้กำหนดให้เป็นมาตรการแรกในการดำเนินการเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ประชาชนและให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
ส่วนงานป้องกันและปราบปรามนั้น เนื่องจากตามคำสั่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำประมาณ 20 กว่างาน ซึ่งในส่วนของตำรวจอาจจะหลงลืมไปบ้าง ในวันนี้จะมาชี้แจงรายละเอียดต่างๆ และควรปฏิบัติอย่างครบถ้วน ถ้าไม่ครบก็แสดงว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย อาจทำให้ประเด็นสำคัญนั้นหลุดไป รวมทั้งการทำงานของตำรวจจราจรใน กทม. ซึ่งเจ้าหน้าที่ บก.จร.มีจำนวนทั้งสิ้น 1,400 นาย และในส่วนของ สน.ต่างๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 3,000 นาย รวมถึงสายตรวจของทุกๆ สน. รวมทั้งสิ้น 4,500 นาย ซึ่งต้องไม่แบ่งหน้าที่ และต้องช่วยกันปฏิบัติงาน
พล.ต.ต.อดุลย์กล่าวอีกว่า อีกส่วนหนึ่งในประเด็นของ ผบ.ตร. ในการสร้างภาพลักษณ์โดยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจมีภารกิจเพิ่มเติม โดยติดป้ายประชาสัมพันธ์ที่รถสายตรวจ และออกไปประชาสัมพันธ์ นอกจากเป็นสายตรวจแล้ว ก็ต้องให้บริการประชาชนไปด้วย รวมถึง “นาฬิกาอาชญากรรม” ต้องเอาข้อมูลมาดูว่ามีเหตุการณ์ตรงไหนบ้าง โดยสายตรวจทั้ง 88 สน.ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ในจุดที่เกิดเหตุ รวมถึงต้องจัดรถประชาสัมพันธ์ออกไปด้วย โดยการประสานกับสื่อมวลชนในการให้ข่าวประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้และป้องกันตนเองมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเฝ้าระวังคนร้ายที่เพิ่งพ้นโทษ เนื่องจากอาชญากรรมเกิดในทุกสถานที่ โดยเฉพาะจี้ปล้นทรัพย์ ซึ่งต้องไปดูว่ามีมาตรการอย่างไร และควบคุมไม่ให้คนร้ายก่อเหตุอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า องค์กรภาคประชาชนอยากจะให้ยกเลิกเกี่ยวกับส่วนแบ่งใบสั่ง มีความคิดเห็นอย่างไร พล.ต.ต.อดุลย์ตอบว่า การทำงานของตำรวจไม่ได้หวังรางวัล เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้รับรางวัลน้อยมากซึ่งทางระเบียบเขียนไว้ว่าไม่เกินคนละ 10,000 บาท แต่ปรากฏว่าได้จริงๆ คนละ 1,000-2,000 บาท จริงๆ แล้วเราไม่ได้เน้นการจับเพื่อล่ารางวัล แต่อย่างไรก็ตาม ทางนโยบายหรือกฎหมายจะกำหนดอย่างไรเราก็ต้องทำอย่างนั้น
ขณะนี้ทาง พล.ต.ต.ศานิตย์ได้กำชับมาแล้วว่า รถยนต์ที่ไปจอดผิดที่จะละเลยไม่ได้ หากผิดครั้งแรกก็จะให้ใบเหลือง ผิดครั้งสองก็จะให้ใบแดง ถือว่าไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ภายในสัปดาห์หน้าจะมีการเปิดปฏิบัติการ “ล็อกล้อทั่วกรุง และยกรถทั่วกรุง” ขณะเดียวกันจะให้ พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รอง ผบช.น.จัดชุดสายตรวจออกไปตรวจพื้นที่ด้วย