xs
xsm
sm
md
lg

DSI เซ็นเอ็มโอยูสถาบันเทคโนฯ หวังพัฒนารูปแบบป้องปรามอาชญากรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ASTV ผู้จัดการ - ดีเอสไอลงนาม MOU สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม พร้อมหนุนภารกิจดีเอสไออำนวยความยุติธรรม เพิ่มช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม-ครม.อนุมัติเพิ่มคดีความผิดใน พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ 5 ความผิด

วันนี้ (23 ก.ค.)ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลา 08.00 น. กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)โดยนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) โดย พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบัน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศเพื่อการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษใน กรอบระยะเวลา 5 ปี และ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูลเชิงพื้นที่รหัสเปิดบนเครือข่ายแผนที่เพื่อกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ (DSI MAP EXTEND) และร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับใช้บนอุปกรณ์สื่อสารไร้สายโดยให้สามารถใช้งานผ่านแม่ข่ายแผนที่ผ่านอินเทอร์เน็ต (DSI MAP) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประยุกต์การใช้เทคโนโลยีกับฐานข้อมูล ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี

นางสุวณากล่าวว่า ความร่วมมือนี้เพื่อพัฒนารูปแบบการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนภารกิจของดีเอสไอ และเสริมศักยภาพให้กับข้าราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยเทคโนโลยีมีพัฒนาการที่รวดเร็วและต่อเนื่อง รูปแบบอาชญากรรมในปัจจุบันก็มีพัฒนาการที่ซับซ้อนโดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระทำผิด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งภารกิจของดีเอสไอ ที่มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน จึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาศักยภาพให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTI) องค์การมหาชน กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและการป้องกันประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นหน่วยงานที่มีฐานข้อมูล องค์ความรู้ รวมถึงบุคลากรที่เป็นนักวิจัยที่จะสามารถให้การสนับสนุนภารกิจของดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และดีเอสไอ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะงานด้านระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) มาอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะ เป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถและมาตรฐานทางด้านเทคโนโลยีในการสร้างเครื่องมือในการสืบสวนสอบสวน เพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับรัฐและประชาชน รวมทั้งการเพิ่มช่องทางในการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายมิติ อาทิ การแจ้งเบาะแสและเฝ้าระวังการบุกรุกพื้นที่ของรัฐได้อย่างง่าย เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางสุวณากล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีการอนุมัติให้คดีความผิดอีก 5 ฉบับ เป็นคดีพิเศษแนบท้ายพ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ ประกอบด้วย 1. ประมวลกฎหมายที่ดิน 2. กฎหมายว่าด้วยป่าไม้ 3. กฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ 4. กฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ และ 5. กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า โดยให้เป็นอำนาจของอธิบดีดีเอสไอในการพิจารณารับเป็นคดีพิเศษ ซึ่งไม่ต้องมีการขอมติจากคณะกรรมการคดีพิเศษ


กำลังโหลดความคิดเห็น