ตำรวจสอบสวนกลางรวบแก๊งชาวแอฟริกัน ปลอมอีเมลบริษัทที่ทำธุรกิจการค้า หลอกคู่ค้าโอนเงินให้ สร้างโปรไฟล์ปลอมแชตลวงขอสาวไทยแต่งงานหลอกโอนเงินให้ พบเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มียอดเงินหมุนเวียนกว่า 200 ล้านบาท
วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก และเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปอท. ปอศ. และ บก.ทท. แถลงผลการจับกุม นายเดซิเล่ท์ โทนี นิโคล สัญชาติไนจีเรีย ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 307 /2558 ลงวันที่ 27 พ.ค. 2558 ร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในประการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, นายออนเยซุกวู เอลวิส สมาร์ท เจีวูน สัญชาติไนจีเรีย ผู้ต้องหาตามหมายจับ ศาลอาญาที่ 1282/2558 ลงวันที่ 22 มิ.ย. 2558 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุุคคลอื่น ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของบุคคลอื่นโดยมิชอบ นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในประการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ น.ส.เบญจ ธีรชัยไพศาล อายุ 38 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลธัญบุรี ลงวันที่ 25 มิ.ย. 2558 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกง และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ในประการที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน นอกจากนี้ ยังจับกุมผู้ร่วมขบวนการเป็นชาวแอฟริกัน สัญชาติแคเมอรูน ไนจีเรีย และไลบีเรีย จำนวน 23 คน โดยจับกุมได้ที่ย่านรามคำแหง หัวหมาก บางกะปิ ราชเทวี คลองจั่น อ.ธีญบุรี และ อ.พระนครศรีอยุธยา
พล.ต.ท.ฐิติราช กล่าวว่า การจับกุมครั้งนี้สืบเนื่องจาก บริษัท เอสซีเอ็น เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งทำธุรกิจสั่งซื้อสินค้าจากประเทศจีน ได้ถูกคนร้ายปลอมแปลงบริษัทคู่ค้า หลอกให้โอนเงินไปหลายล้านบาท จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกไว้ที่ บก.ปอท. จากการสืบสวนทราบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุไปชาวไนจีเรีย พล.ต.ท.ฐิติราช จึงได้สั่งการให้ บก.ปอท. บก.ทท. บก.ปอศ. และ บก.ป. ร่วมกันวิเคราะห์องค์กรคนร้าย และสถิติย้อนหลัง 1 ปี พบว่า กลุ่มคนร้ายชาวไนจีเรียดังกล่าวมีการกระทำผิดเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีการแบ่งหน้าที่กันทำอย่างเป็นระบบ โดยใช้อุบายหลอกเหยื่อด้วยวิธีการปลอมแปลงอีเมล หรือ email scam และ การแชทหลอกว่าจะแต่งงาน หรือ romance scam เพื่อหลอกเหยื่อให้โอนเงินเข้าบัญชีที่คนร้ายจัดหาไว้ จากนั้นจะมีการโอนเงินด้วยระบบ อี-แบงกิ้ง และหรือฝากเงินผ่านตู้ระบบอัตโนมัติ เข้าบัญชีของกลุ่มคนร้าย ที่มีหน้าที่ยักย้าย ถ่ายโอนเงินในองค์กร เพื่อทำการฟอกเงินโดยผ่านบริษัทที่มีการเปิดไว้บังหน้า หรือผ่านพ่อค้าการเงินนอกระบบเพื่อจ่ายเงินให้กับผู้รับเงินในประเทศปลายทาง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าภายในระยะเวลา 6 เดือน มีเงินหมุนเวียนในกลุ่มคนร้ายกว่า 200 ล้านบาท
"จากการถอดแผนประทุษกรรมคนร้ายจะหลอกลวงเหยื่อผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์โดยการส่งอีเมลที่มีไวรัสไปหาเหยื่อที่เป็นบริษัทที่ทำการค้า เพื่อขโมยข้อมูลรหัสผ่านอีเมล จากนั้นจะทำการปลอมแปลงอีเมลที่ใช้ในการติดต่อธุรกิจเพื่อหลอกให้บริษัทคู่ค้าโอนเงินมาให้ ส่วนอีกวิธีคนร้ายจะอ้างตัวว่าเป็นนายทหาร นักบิน หรือ หมอ ที่อยู่ต่างประเทศ โดยจะนำรูปชายชาวยุโรปหน้าตาดีมาโชว์ให้เหยื่อดูทางโซเชียลมีเดีย แชทหลอกลวงเหยื่อสาวไทยว่าจะแต่งงานด้วย โดยอ้างว่าได้ส่งของหมั้นมาให้ แต่ติดอยู่ที่ศุลกากร ต้องให้เหยื่อโอนเงินไปไถ่ของออก หรือสร้างเรื่องว่าเดินทางมาแต่งงานแค่ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองกักตัวไว้ ต้องโอนเงินมาเสียค่าปรับจึงจะออกได้ ที่ผ่านมา กลุ่มคนร้ายเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายให้กับคนไทย มีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก บางรายสูญเงินหลักแสน หรือหลักล้านบาท” ผบช.ก.กล่าวและว่า หลังจากนี้ บช.ก. จะยกระดับการกวาดล้างกลุ่มเหล่านี้อย่างจริงจัง โดยบูรณาการทุกงานในสังกัด ประสานกับสตม.และตำรวจสันติบาล เพื่อป้องการปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ รองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี
ด้าน พ.ต.อ.ปรวัฒน์ อมรวิวัฒน์ รอง ผบก.สส.สตม.3 กล่าวว่า ผู้ต้องหาเหล่านี้เข้ามาในประเทศตามช่องทางปกติ ใช้หนังสือเดินทางจริง แต่พบว่าในการทำธุกรรมต่างๆ ในประเทศไทยจะใช้หนังสือเดินทางปลอม เพื่ออำพรางตนเอง โดยหลังจากนี้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจะเพิ่มความเข้มในการคัดกรองการเข้ามาในประเทศของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ทางสตม. จะทำการเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร และมีการขึ้นบัญชีเป็นบุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ