ASTV ผู้จัดการ - ฎีกายืนจำคุก 2 ปี “โอ๋ สืบ 6” ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ สั่งคนรุมทำร้ายผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ต้าน “ทักษิณ” หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ปี 49 แต่ศาลปรานีให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกจึงรอลงอาญาไว้ 2 ปี
ที่ห้องพิจารณา 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (25 มิ.ย.) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.2314/2550 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 และผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่ถูกทำร้ายซึ่งเป็นผู้เสียหาย เป็นโจทก์ และโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง พล.ต.ต.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์ ผบก.อก.สพฐ. หรือ พ.ต.อ.ฤทธิรงค์ เทพจันดา หรือโอ๋ สืบ 6 เป็นจำเลยในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสร้างความเสียหายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาร่วมกันกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ฯตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ,200 ประกอบมาตรา 83 และ 90
คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อ 27 มิ.ย. 2550 ระบุความผิดจำเลยสรุปว่า เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2549 เวลากลางวัน ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่ง ผกก.สส.บก.น.6 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หรือจัดการให้เป็นไปตามกฎหมายอาญา มีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงฯ โดยจำเลยร่วมกับนายจรัล จงอ่อน นายชัยสิทธิ์ ลอม๊ะห์ และนายสุเมธ บุญยรัตพันธุ์ เข้าไปรุม ใช้กำลังประทุษร้ายนายฤทธิรงค์ ลิขิตประเสริฐกุล นายวิชัย เอื้อปิยาพันธุ์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ตะโกนขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่ไปร่วมงานบริเวณห้างเซ็นทรัลเวิลด์พลาซา ย่านปทุมวัน โดยจำเลยละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่จับกุมนายจรัลกับพวกมาดำเนินคดี เหตุเกิดที่แขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
คดีนี้ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2551 ว่า จำเลยมีความผิด มาตรา 157 ให้จำคุก 2 ปีและปรับ 10,000 บาท แต่ไม่เคยปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน ขณะที่จำเลยได้ประกอบคุณงามความดีด้วยการปฏิบัติหน้าที่ราชการเพื่อประเทศชาติด้วยดีตลอดมา ประกอบกับได้ความว่าหลังจากเกิดเหตุคดีนี้จำเลยถูกลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกจากราชการ อันทำให้จำเลยหมดอนาคตในชีวิตราชการ นับได้ว่าจำเลยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในหน้าที่การงานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จำเลยคงสำนึกในการกระทำของตน ถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรปรานี และเพื่อให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยต่อสู้ว่าไม่เคยรู้จักกับนายจรัล กับพวกมาก่อน และการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลความผิดจำเลยไม่ชอบ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำเลยยื่นฎีกาต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยไม่ได้เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามมาตรา 157
ศาลฎีกาประชุมตรวจสำนวนแล้วที่จำเลยต่อสู้ว่า นายต่อตระกูล ยมนาค อนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. กระทำการขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2550 และระเบียบของ ป.ป.ช.ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. 2547 กรณีที่นายต่อตระกูลนำแผ่นวีซีดีที่บันทึกภาพเหตุการณ์ที่จะเป็นหลักฐานไปให้กับสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีนั้น เห็นว่าการนำวีซีดีหลักฐานไปให้กับโจทก์ร่วมและสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีนั้นได้กระทำก่อนที่นายต่อตระกูลจะได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการไต่สวน กรณีของนายต่อตระกูลจึงไม่ใช่ประเด็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จะขัดต่อระเบียบการไต่สวนของ ป.ป.ช. ขณะที่จำเลยก็ไม่ได้ต่อสู้โต้แย้งในประเด็นนี้ตั้งแต่แรก และในการไต่สวน ป.ป.ช.ได้เปิดโอกาสให้จำเลยนำเสนอพยานหลักฐานเข้าต่อสู้ได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ขณะเกิดเหตุจำเลยยังเป็นนายตำรวจยศ พ.ต.อ. จึงยากที่ใครจะมากลั่นแกล้ง
ขณะที่การไต่สวนในชั้น ป.ป.ช.ก็มีหลักฐานที่เป็นแผ่นวีซีดีบันทึกภาพและเสียงขณะที่มีการสนทนาของจำเลยและกลุ่มนายจรัล ซึ่งจำเลยอยู่ในเหตุการณ์โดยมีการพูดคุยกับนายจรัลและนายสุเมธจริงตามภาพบันทึกเหตุการณ์ในแผ่นวีซีดี โดยเมื่อพิจารณาคำพูดในแผ่นวีซีดีแล้วจำเลยเคยรู้จักและมีอำนาจสั่งการเหนือนายจรัลและนายสุเมธมาก่อน เชื่อได้ว่าจำเลยมีส่วนรู้เห็น เพราะอยู่ในพื้นที่และสถานการณ์เดียวกัน การที่นายจรัลและนายสุเมธซึ่งไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรีทำร้ายผู้เสียหาย โดยที่จำเลยไม่เข้าไประงับเหตุการณ์ ซึ่งจำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ต้องจับกุมผู้กระทำผิด แต่กลับละเลยไม่กระทำการดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม จึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสร้างความเสียหายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามมาตรา 157 ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน