9 หน่วยงานจับมือลงนาม MOU ร่วมสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนปลอดยาเสพติด ระบุที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มงบประมาณไปด้านการจับกุมปราบปรามมากกว่าการป้องกัน แต่ปัญหากลับไม่ลดลง
วันนี้ (22 ม.ค.) ที่ห้องจูปิเตอร์ 12 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเพิ่มพงษ์ เชาวลิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และผู้บริหารของ 9 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเรื่องการดำเนินงานด้านการสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันยาเสพติดกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา ตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปี 2558 โดยมุ่งผนึกกำลังดูแลเยาวชน เน้นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เข้มแข็ง จริงจัง ต่อเนื่อง ซึ่งจะพุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างความสามารถของสมองในการบริหารจัดการชีวิต : Executive Functions หรือ EFs ในเด็กและเยาวชน เพื่อสร้างพื้นฐานการมีภูมิคุ้มกันยาเสพติดที่เข้มแข็ง
พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนในสถานศึกษาที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีแนวโน้มเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้เกิดการควบคุมสภาพปัญหายาเสพติดในกลุ่มดังกล่าวให้ลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2558 และเพื่อให้เด็กและเยาวชนในสถานศึกษามีภูมิคุ้มกันยาเสพติดตั้งแต่ปฐมวัย รวมทั้งเด็กและเยาวชนก่อนวัยเสี่ยง และเยาวชนกลุ่มเสี่ยง จึงมีการลงนามในครั้งนี้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลทุ่มงบประมาณไปด้านการจับกุมปราบปรามมากกว่าการป้องกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหายาเสพติดลดลง หลังจากนี้เราจะมุ่งเน้นเรื่องการป้องกันเป็นหลัก เริ่มตั้งแต่ปี 2558-2562 รวมระยะเวลา 5 ปี เพื่อลดปัญหายาเสพติด ซึ่งจะปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่เด็ก โดย ให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลเรื่องเด็กและเยาวชน ส่วนกระทรวงมหาดไทย ดูแลในเรื่องของระดับครอบครัว ชุมชน และเยาวชนนอกสถานศึกษา นอกจากนี้ ในการป้องกันปัญหายาเสพติดของสถานศึกษาจะต้องทำให้เกิดการทำงานบูรณาการร่วมกัน เช่น โครงการครู D.A.R.E.ที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 6,000 คน รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันโดยศาสนาที่นับถือ เช่น กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมในศานาพุทธ โดยพระสงฆ์จะสามารถเข้าไปเฝ้าระวังเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดได้และเข้าไปอยู่ในระบบการเรียนการสอน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพระสงฆ์ต้องไปดูว่ามีข้อกฎหมายและกฎระเบียบใดบ้างที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงกัน รวมถึงโครงการทูบีนัมเบอร์วันด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องทำงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงกัน ทั้งนี้ ทางกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) จะทำหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย
รมว.กระทรวงยุติธรรมกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมางบประมาณในการสนับสนุนการป้องกันปัญหายาเสพติดระดับโรงเรียนไม่เพียงพอ ซึ่งโรงเรียนกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ ได้รับงบประมาณในการสนับสนุนเพื่อรณรงค์ด้านนี้เพียงโรงเรียนละ 5,000 บาท และเป็นงบหมุนเวียนแต่ละโรงเรียน 7 ปี จะได้งบ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ในวันที่ 23 ม.ค. 58 พล.อ.ไพบูลย์จะเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการจัดระบบแก้ไขปัญหาแหล่งผลิตยาเสพติดในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หลังจากที่มีการเปิดศูนย์ประสานงานแม่น้ำโข่งปลอดภัย โดยศูนย์ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการข่าวระหว่าง 4 ประเทศ ไทย จีน พม่า และลาว ในการป้องกันยาเสพติด ตนอยากให้ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหา