ดีเอสไอสรุปผลการตรวจสอบรถหรูแล้วเสร็จร้อยละ 90 ชี้มีเจ้าของรถหรู 148 คัน เลี่ยงไม่นำเข้าตรวจสอบ เชื่อสำแดงเท็จ เตรียมส่งฟ้องทั้งหมด ระบุเลี่ยงภาษีรถหรูทำประเทศชาติต้องสูญเสียรายได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ มอบหมายให้ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ รองอธิบดีดีเอสไอ และ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ประชุมเร่งรัดการทำงานคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกรณีขบวนการลักลอบนำเข้ารถยนต์หรูสำแดงเท็จเป็นรถจดประกอบ
พ.ต.ท.กรวัชร์ กล่าวว่า ตามที่ ดีเอสไอ ได้ตรวจสอบรถยนต์จดประกอบจากอุปกรณ์ชิ้นส่วนเก่าที่มีราคาสูงตั้งแต่ 4 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 548 คัน ซึ่งในส่วนดังกล่าวดำเนินการเสร็จไปแล้วร้อยละ 70 หรือ 400 คัน โดยได้ดำเนินการส่งให้กรมศุลกากรไปดำเนินการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ทั้งนี้ จากจำนวน 400 คันดังกล่าว มีตัวเลขตัวถังและแชสซีตรงกันเกือบทั้งหมด จึงให้กรมศุลกากรไปดำเนินการตรวจสอบ
สำหรับรถยนต์อีกจำนวน 148 คัน พบว่า ยังไม่มีเจ้าของรถนำรถเข้ามาให้ตรวจสอบ ซึ่งส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นการสำแดงเท็จ และได้ดำเนินการส่งให้กรมศุลกากรเพื่อพิจารณาเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมจากรถหรูแต่ละคันแต่ละรุ่น ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ
ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษภาค กล่าวอีกว่า ในส่วนการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มขบวนการทำรถยนต์จดประกอบนั้น ขณะนี้มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 90 จึงคาดว่าจะสามารถสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 10 เป็นเรื่องของเอกสารในการตรวจสอบรถ ซึ่งกรมศุลกากรกำลังดำเนินการตรวจสอบ
คดีที่จะส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการนั้น ประกอบด้วย 1. คดีพิเศษที่ 111/2556 ขบวนการทำรถยนต์จดประกอบที่มียอดจำหน่ายรายใหญ่ที่สุด (นาย พ.), 2. คดีพิเศษที่ 122/2556 ขบวนการโจรกรรมรถยนต์จากประเทศมาเลเซียทั้งคัน เพื่อนำมาทำรถยนต์จดประกอบ (รายปราจีนบุรี), 3. คดีพิเศษที่ 129/2556 ขบวนการโจรกรรมรถยนต์จากประเทศมาเลเซีย เพื่อทำรถยนต์จดประกอบที่ จ.ศรีสะเกษ แต่เกิดเพลิงไหม้ก่อนที่ จ.นครราชสีมา และ 4. คดีพิเศษที่ 252/2556 ขบวนการลักลอบนำเข้ารถยนต์มาเตรียมการ เพื่อทำรถยนต์จดประกอบ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ สน.ตลาดพลู ตรวจยึดได้ก่อน
นอกจากนี้ พ.ต.ท.กรวัชร์ ได้ กล่าวถึงกรณีการประมูลรถยนต์หรูของกรมศุลกากร หลังมีรถยนต์หรูหายไปจากพื้นที่ฟรีโซน (เป็นที่จอดพักรถยนต์เพื่อจะส่้งขายไปยังประเทศอื่น) จำนวนหลายร้อยคัน ว่า รถยนต์หรูที่อยู่ในพื้นที่ฟรีโซนได้หลุดเข้ามาอยู่ในตลาดประมูลรถหรูของกรมศุลกากร โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 57 เป็นการประมูลรถหรูจำนวน 357 คัน พบว่า มีรถหรูที่หลุดจากพื้นที่ฟรีโซนจำนวน 8 คัน และการประมูลครั้งที่ 2 เมื่อ 2 ก.ย. 57 จำนวน 240 คัน พบว่ามีรถหรูที่หลุดออกมาจากฟรีโซน 4 คัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เป็นการนำรถยนต์จดประกอบจากอุปกรณ์ชิ้นส่วนเก่าเข้ามาร่วมประมูล อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับรถหรู ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียภาษีไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท