xs
xsm
sm
md
lg

ส่อวุ่น ยธ.ให้ ขรก.จับสลากเข้าสังกัดใหม่ หลังยุบ “ไทยมาร์แชล”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


กระทรวงยุติธรรม ให้ ขรก. 66 ราย เข้าคิวจับสลากโอนย้ายลงตำแหน่งในสังกัดใหม่ หลังยุบสำนักบังคับคดีอาญาและบังคับใช้กฎหมาย ลดภารกิจซ้ำซ้อน เผย ป.ป.ท. มีคนขอเข้าคิวจับสลากมากที่สุด 28 คน แต่รับได้แค่ 8 คน วิจารณ์แซดไร้ระเบียบรองรับ เสี่ยงโดนฟ้อง

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่กระทรวงยุติธรรม พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมพิจารณาการไกล่เกลี่ยตำแหน่งของข้าราชการ สำนักบังคับคดีอาญาและบังคับใช้กฎหมาย (ไทยมาร์แชล) จำนวน 66 ราย ภายหลังหน่วยงานดังกล่าวถูกยุบ เนื่องจากมีภารกิจซ้ำซ้อนกับหน่วยงานรัฐที่มีอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีการเสนอรายชื่อหน่วยงานและสำนักงาน สังกัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมจำนวนอัตราตำแหน่ง ที่จะรับโอนอัตรากำลังไป โดยหากมีผู้ลงชื่อย้ายไปยังหน่วยใดเกินจากจำนวนที่เปิดรับโอน จะให้ข้าราชการเข้าคิวจับสลากเพื่อแก้ปัญหา

สำหรับหน่วยงานที่มีการเสนอรับโอนย้าย ได้แก่ 1. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) 2. สำนักงานยุติธรรมจังหวัด 3. สำนักคุ้มครองพยาน กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 4. กองทุนยุติธรรม และ 5. ศูนย์บริการร่วม โดยหน่วยงานที่ข้าราชการลงชื่อเพื่อโอนย้ายมากที่สุด คือ ป.ป.ท. ซึ่งมีข้าราชการเข้าคิวจับสลากจำนวน 28 คน แต่ ป.ป.ท. สามารถรับโอนได้เพียง 8 คน ทำให้มีทั้งคนผิดหวังและสมหวัง ส่วนข้าราชการที่จับสลากได้รับการโอนย้ายไปยัง ป.ป.ท. จะมีตำแหน่งนักสืบสวนสอบสวนรองรับอยู่ ก็ไม่ต้องปรับตำแหน่งเป็นนักวิชาการยุติธรรม อีกทั้งยังมีเงินเพิ่มในตำแหน่งนักสืบสวนอีกด้วย ทั้งนี้ หากจับสลากได้โอนย้ายไปยังสำนักงานยุติธรรมจังหวัด ก็จะถูกปรับตำแหน่งเป็นนักวิชาการยุติธรรม

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า วิธีการดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่เคยมีการดำเนินการลักษณะนี้มาก่อน และสุ่มเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง เพราะอาจจะเข้าข่ายเป็นกระบวนการโดยมิชอบ ซึ่งระเบียบปฏิบัติก็ไม่ได้ระบุให้ใช้วิธีการจับสลาก ให้เป็นการใช้ดุลพินิจของผู้บริหาร แต่ต้องอยู่ภายใต้เหตุผล ซึ่งผู้เกี่ยวข้องก็ต้องตอบให้ได้ว่า เหตุผลในการจับสลากมันดีอย่างไร จากตำแหน่งนักสืบสอบสวน มาเป็นนักวิชาการมันมีเหตุผลรองรับอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น