ตร.กองปราบฯ รวบหนุ่มไนจิเรีย สมาชิกแก๊ง “419scam” ต้มตุ๋นระดับโลก ลวงสาวไทยสูญเงินนับล้าน
วันนี้ (3 ต.ค.) ที่ กองปราบปราม พ.ต.อ.ชัยทัต บุญขำ รักษาราชการแทน ผบก.ป. พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รอง ผบก.ป. มอบหมาย พ.ต.อ.นิรันดร์ นามสุวรรณ ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ท.จักรภพ ศรีหนา สว.กก.2 บก.ป. นำกำลังจับกุม นายออนเยคาชี นาทาเนียล อมาดิ อายุ 37 ปี สัญชาติไนจิเรีย สมาชิกแก๊ง 419 Scam ซึ่งเป็นแก๊งต้มตุ๋นระดับโลก พร้อมของกลาง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก โทรศัพท์มือถือ 3 เครื่อง และบัตรประจำตัวพนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในชื่อนายจอห์น เฟดดี้ ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1762/2557 ลงวันที่ 30 กันยายน 2557 ข้อหาร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่น และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชน จับกุมได้ที่หมู่บ้านพฤกษา 86 หมู่ 2 ต.ศีรษะจรเข้น้อย อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้ต้องหาได้แอบอ้างตัวว่าชื่อ นายเทอรี่ เชลดัน สัญชาติอังกฤษ มีอาชีพเป็นศัลยแพทย์ ประจำองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาติดต่อกับ น.ส.วรัญญา วลัยศรี อายุ 44 ปี ผู้เสียหาย ผ่านทางเว็บไซต์จัดหาคู่แห่งหนึ่ง โดยจะเข้ามาสนทนาและติดต่อกันเรื่อยมากว่า 1 เดือน เมื่อเกิดความสนิทสนมกันมากขึ้น ก็อ้างว่าจะเดินทางมาหาผู้เสียหายในวันที่ 16 กันยายน โดยส่งเอกสารจองตั๋วเครื่องบิน และจองโรงแรมที่พักในเมืองพัทยา จ.ชลบุรี มาให้ดู เพื่อให้เหยื่อตายใจ ต่อมาก็จะระบุว่าจะส่งเครื่องมือแพทย์มาฝากไว้ แต่ติดขัดที่ขั้นตอนการขนส่ง ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยขอความช่วยเหลือจากเหยื่อให้ออกเงินในส่วนดังกล่าว นอกจากนี้ ทางผู้ต้องหายังให้ผู้ร่วมขบวนการอีกหลายคนทั้งชายและหญิง สลับกันติดต่อหาเหยื่อ โดยอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ขนส่งสินค้า ประเทศฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้หาเงิน 2,800 ดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือประมาณกว่า 96,000 บาท มาเป็นค่าธรรมเนียมจ่ายให้กับผู้ต้องหา เพื่อนำของออกมา เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปให้ ก็จะอ้างอีกว่าของที่จะนำส่งนั้นติดอยู่ที่สนามบินในประเทศฟิลิปปินส์ มีการสแกนกระเป๋าแล้วพบเงินอยู่ภายใน จากนั้นจึงหลอกลวงผู้เสียหายอีกว่า มีการนำเงินออกนอกประเทศฟิลิปปินส์ โดยผิดกฎหมาย ต้องเสียค่าปรับให้ศุลากรของประเทศดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 25,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมกับรบเร้าอีกว่า ได้ใช้ชื่อผู้รับเป็นชื่อของผู้เสียหาย อาจทำให้มีปัญหาไปถึงผู้เสียหายเองด้วย
ต่อมาเมื่อทางผู้เสียหายโอนเงินไปให้อีก ก็ได้เห็นภาพถ่ายใบเสร็จที่อ้างว่าจ่ายเป็นค่าปรับจากศุลกากรประเทศฟิลิปปินส์ แต่คาดว่าเป็นเอกสารปลอมที่จัดทำขึ้นมาใช้ในการหลอกลวงให้แนบเนียนเท่านั้น หลังจากนั้น ทางผู้ต้องหา ก็จะอ้างปัญหาติดขัดอีกว่าจะต้องเสียภาษีอีก 80,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขอใหช่วยออกในส่วนนี้ก่อนแล้วจะใช้คืนให้ภายหลัง ซึ่งผู้เสียหายแจ้งว่า ไม่มีเงินพอ ก็ถูกคะยั้นคะยอจนต้องช่วยไปครึ่งหนึ่งจำนวน 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1.2 ล้านบาท มีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาสุขุมวิท 77 ในชื่อบัญชีของคนไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ต้องหาเห็นว่ายังคงหลอกเอาเงินจากผู้เสียหายรายนี้ได้อย่างต่อเนื่อง จึงพยายามจะขอให้โอนเงินมาให้อีกโดยจะอ้างปัญหาต่างๆ นานา กระทั่งผู้เสียหายเห็นผิดสังเกต และได้เริ่มปรึกษากับเพื่อนและญาติ จนมีการตรวจสอบบุคคลในภาพกับฝ่ายผู้ต้องหาจนรู้ว่าไม่ใช่ตัวจริง แต่เป็นการหลอกลวงจนต้องสูญเงินไปเป็นจำนวนมากแล้ว จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ป.หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ได้เร่งรวบรวมพยานหลักฐาน โดยใช้เทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่ตามแนวคิดของ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผบช.ก. ก่อนจะขออนุมัติศาลออกหมายจับผู้ต้องหา และติดตามจับกุมไว้ได้ดังกล่าว
สอบสวนเบื้องต้นผู้ต้องหาให้การภาคเสธ โดยอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหลอกลวงผู้เสียหาย แต่มีหน้าที่เพียงไปกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็ม ภายหลังมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นชื่อของคนไทยเท่านั้น ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งสืบสวนขยายผลติดตามจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดที่เหลือแล้ว โดยก่อนหน้านี้ได้จับกุมตัว นายอาฮาเมฟูลา ชิบุยเค คาลิ อายุ 33 ปี สัญชาติไนจีเรีย ซึ่งพบว่ามีส่วนพัวพันกับแก๊งดังกล่าว แต่พยานหลักฐานที่พบยังคงดำเนินคดีได้เพียงข้อหา เป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด และได้นำส่งพนักงานสอบสวน สน.ประเวศ ดำเนินคดี