“วัชรพล” ปักธงในใจเตรียมเสนอชื่อ ผบ.ตร. คนที่ 10 กลางวงที่ประชุม ก.ต.ช. ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งหัวโต๊ะในสัปดาห์หน้า เปรยหาก ก.ต.ช. ไม่เห็นชอบ อาจต้องมีแผนสำรอง รรท.ผบ.ตร. เร่งยกร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ระบุทำประชาพิจารณ์รับฟังข้อเสนอแนะก่อนเสนอ สนช. ขณะที่ สตช. เตรียมทำลายตู้เกมกว่า 4 พันตู้พร้อมแผงวงจรให้สิ้นซากภายในเดือนนี้
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ ว่า ได้ทำหนังสือขอกำหนดวันประชุมไปถึงพล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) แล้ว แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้กำหนดวันประชุมลงมา แต่คาดว่าน่าจะภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถประชุม ก.ต.ช. เพื่อเลือก ผบ.ตร. คนใหม่ได้ เพราะเคยหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ก่อนหน้านี้ ฝ่ายทหารเองก็จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้าเช่นกันซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ สะดวกเมื่อไหร่ก็คงกำหนดวันประชุมลงมา โดยไม่ต้องรอแต่งตั้ง ก.ต.ช. ผู้ทรงคุณวุฒิสามารถประชุมได้เลยตามกฎหมาย
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า ขณะนี้ตนเองมีความชัดเจนแล้วว่าจะเสนอใครให้ ก.ต.ช. เห็นชอบ คุณสมบัติของคนที่ตนเลือกไว้ก็เป็นไปตามที่เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ตามกฎหมายก็ระบุไว้อยู่แล้วว่าต้องมีคุณสมบัติแบบใดบ้าง โดยใช้ทุกหลักประกอบกัน รวมทั้งหลักอาวุโสก็เป็นส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด เพราะที่ปฏิบัติมาก็เป็นหลักหนึ่งที่มาประกอบเท่านั้น
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า เรื่องที่มีการปล่อยข่าวดิสเครดิตกันก็รู้มาบ้างตามข่าวที่ปรากฏ ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏก็เป็นเรื่องของข้อมูล และยังไม่ได้คุยกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. ที่ปรากฏเป็นข่าวเพราะท่านเองก็มีงานเยอะ ตนเองก็เห็นผ่านสื่อมวลชนยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบรายละเอียดในเรื่องที่เกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามข้อกฎหมายอะไรที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบก็จะเป็นข้อด้อยของแต่ละท่านไป ทุกอย่างก็คงเป็นไปตามข่าวที่ท่านชี้แจง
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองว่าการแข่งขันชิงตำแหน่ง ผบ.ตร. ครั้งนี้ มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คงไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่ตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นตำแหน่งที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ คิดว่ากรรมการ ก.ต.ช. ทุกท่านคงใช้ดุลพินิจไปตามกฎหมาย และเชื่อว่าหลังจากเลือก ผบ.ตร. แล้วจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น เราเป็นข้าราชการตำรวจในเครื่องแบบ มีวินัย ช่วงที่อยู่ระหว่างแคนดิเดตทุกคนก็มีสิทธิ์ในการเสนอตัว แต่เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯแล้วก็จบทุกคนก็กลับไปทำงานตามหน้าที่ ยืนยันว่าไม่มีปัญหาแน่นอน
เมื่อถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่าคนที่จะเสนอชื่อไป ก.ต.ช. จะเห็นชอบ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เป็นเรื่องของดุลพินิจคงตอบไม่ได้ แต่คงจะชี้แจงเหตุผลว่าจะเสนอใครเพราะเหตุผลอะไร ตามขั้นตอนหาก ก.ต.ช. ไม่เห็นด้วยกับรายชื่อที่เสนอไปก็อยู่ที่ ก.ต.ช. ว่าจะอย่างไร โดยหลักก็ต้องเสนอใหม่ ทางประธาน ก.ต.ช. และคณะกรรมการ ก.ต.ช. ก็ไม่ได้มีเวลามากก็ต้องมีการดำเนินการไปซึ่งก็อาจจะต้องมีแผนที่สอง
วันนี้ (14 ส.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รรท.ผบ.ตร. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานยกร่างกฎหมาย กฎ ระเบียบ คำสั่งหรือประกาศเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสาธารณะ ว่า การยกร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายประเด็นที่ยังไม่เสร็จก็ให้คณะทำงานเร่งดำเนินการและประชุมต่อเนื่องทุกวัน โดยจะเร่งทำเพื่อเสนอเป็นกฎหมายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้เร็วที่สุด การยกร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เหมือยไปลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่เคยมีที่สามารถชุมนุมโดยสงบโดยปราศจากอาวุธ เมื่อเรามาออกกฎหมายเอาร่างกฎหมายที่เคยผ่านสภาผู้แทนราษฎร แต่ยังไม่ผ่านวุฒิสภา ไม่ผ่านรัฐบาลก็ตกไป
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า โดยเนื้อหาหลักของกฎหมายฉบับนี้คือก่อนการชุมนุมต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้าที่เบื้องต้นกำหนดไว้ภายใน 24 ชม. ซึ่งไม่มาก เป็นการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบไม่ใช่เป็นการขออนุญาตเพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้สามารถจัดเตรียมกำลังในการอำนวยความสะดวก จัดการจราจร แจ้งประชาชนให้รับทราบ แต่ถ้ามาดูพื้นที่แล้วเข้าเงื่อนไขไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็อาจจะขอให้เลิกชุมนุม เช่น ละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของบุคคลอื่น หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษ นอกจากนั้น ยังมีสาระสำคัญเรื่องเงื่อนไขการชุมนุม สถานที่ต้องไม่กีดขวางสถานที่ราชการ โรงพยาบาล สถานทูต เรื่องเวลาหลายๆ ประเทศต้องกำหนดเวลาตอนนี้ก็มีการเสนอให้ชุมนุมได้เวลา 06.00 - 22.00 น. ถ้าหลัง 22.00 น. ก็อาจจะไปรบกวนชีวิตปกติของคนอื่น เป็นต้น ซึ่งยังไม่รายละเอียดมากต้องแก้ไขปรับปรุงยังไม่สมบูรณ์และคิดว่าหลังจากยกร่างเสร็จก็ต้องมีการเชิญสื่อมวลชนมารับฟังความคิดเห็น ทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆ ก่อนจะเสนอ สนช. เพื่อเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ก่อเกียรติ วงศ์วรชาติ ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการตรวจสอบและทำลายเครื่องเล่นเกม ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีคำสั่งให้เร่งทำลายตู้เกมและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่ยึดได้มา โดยตู้กว่า 4 พันตู้ แผงวงจรอีกกว่า 1 พันแผง โดยใช้หลักไม่ให้มีความสงสัยว่าจะมีการนำกลับมาใช้อีก คาดว่าจะใช้วิธีการบดทำลาย จากนั้นจะนำไปเผาที่บริษัทอัคคีปราการที่มีเตาเผาขนาดใหญ่สามารถเผาทำลายได้โดยไม่เกิดมลภาวะ ซึ่งกำหนดกรอบเวลาภายในเดือนนี้จะสามารถทำลายได้ทั้งหมด