xs
xsm
sm
md
lg

ตำรวจแนะ 10 ข้อควรทำเพื่อป้องกันเด็กหาย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


“จรัมพร” เผยคู่มือป้องกันเด็กหาย จัดทำโปสเตอร์ภาพการ์ตูนข้อแนะนำ 10 ข้อที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติ

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา (สบ10) ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม (ผบ.ศบคน.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กล่าวถึงกรณีเด็กหายที่มีการแจ้งมายังศูนย์ และช่องทางอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ เพื่อเป็นการป้องกันเด็กหาย ศบคน.ตร. หรือ Missing Person Management Center (MPMC) จึงจัดทำโปสเตอร์ภาพการ์ตูน สาระเพื่อความปลอดภัย เพื่อป้องกันเด็กหาย ให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในการสอนเด็ก ให้ระมัดระวังตัว ลดช่องว่าง ตัดโอกาส ไม่ให้เด็กตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมการลักขโมยเด็กไปทำมิดีมิร้าย โดยจะทำแจกจ่ายตามโรงเรียนต่างๆ ในเร็วๆ นี้

พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวว่า ได้คิดคำแนะนำเป็นคำคล้องจอง ประกอบภาพการ์ตูน 10 ข้อแนะนำดังนี้

1. “สอนให้จดจำ” คือสอนให้เด็กจำชื่อ-สกุลจริงของตัวเอง ชื่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่อยู่หมายเลขโทรศัพท์ สอบให้เด็กสามารถใช้หมายเลขฉุกเฉิน เช่น 191, 1599 ซึ่งเป็นสายด่วนศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

2. “ลำพังไม่ให้อยู่” อย่าทิ้งเด็กอยู่บ้านตามลำพัง หากจำเป็น เลี่ยงไม่ได้ ต้องสอนให้เด็กระมัดระวังตัว ให้แอบดูคนเข้ามาที่บ้าน กำชับห้ามเปิดประตูรับคนแปลกหน้า กำชับห้ามบอกกับใครไม่ว่าการติดต่อทางใด เช่น โทรศัพท์ หรือข้อความในโซเชียล ว่าอยู่บ้านคนเดียว

3. “รู้ทันรถมาเทียบ” บอกเด็กให้อยู่ห่างรถคนแปลกหน้าที่แล่นมาเทียบใกล้ตัว ไม่ว่ารถตู้ รถเก๋ง หรือจักรยานยนต์ แม้คนขับจะทำทีรู้จักมาก่อน และสอนเด็กให้หนีไปอยู่ในที่คนพลุกพล่าน เดินเข้าหาตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ไปยังสถานที่ปลอดภัย

4. “ไม่เลียบลัดทางเปลี่ยว” สอนเด็กหลีกเลี่ยงทางเปลี่ยว รกร้าง ลับตาคน มืด แม้เด็กจะคุ้นเคยก็ตาม

5. “ไม่ยุ่งเกี่ยวของฟรี” สอนอย่าให้เด็กรับสิ่งของจากคนแปลกหน้า หรือบุคคลอื่นหากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่บอกรับได้ เพราะคนร้ายมักใช้วิธีให้ขนม หรือของเล่นแก่เด็กเพื่อเข้าใกล้ ตีสนิท

6. “แนะสถานที่ใช้ติดต่อ” นัดแนะ บอกวิธีให้เด็กติดต่อ ผู้ปกครองได้ทุกเวลา นัดแนะจุดนัดหมายที่เด็กคุ้นเคย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านประจำ ป้อมตำรวจ หรือสถานที่ปลอดภัยที่จะให้ผ้ปกครองรับเด็กได้ทันทีหากเด็กรู้สึกอยู่ในภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจ

7. “อย่าทิ้งรอ ให้รถเฝ้า” อย่าปล่อยเด็กอยู่ตามลำพังในที่สาธารณะ หรือทิ้งในรถเข็นเด็ก รถยนต์ รถเข็นซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แม้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก็ตาม เพราะคนร้ายอาจลักพาทั้งเด็ก รถ ทรัพย์

8. “เข้าห้องน้ำ ตามเป็นเพื่อน” อย่าปล่อยเด็กเล็กเข้าห้องน้ำสาธารณะตามลำพัง แม้เด็กไปด้วยกัน 2 คน ก็ยังไม่ปลอดภัย ผู้ใหญ่ควรไปด้วยและให้เด็กอยู่ในสายตาตลอดเวลา

9. “ไม่ต่างเรือนควรร่วมอยู่” หากเด็กมีกิจกรรมไปเยี่ยมเยือนพบปะผู้คนที่ไม่รู้จัก หรือเสนอขายสินค้าตามอาคารบ้านเรือนต่างๆ ควรมีผู้ใหญ่หรือเพื่อนๆ อยู่ร่วมกิจกรรมตามไปด้วย

10. “ดูข้อมูลให้ทันสมัย” ควรปรับข้อมูลเกี่ยวกับเด็กให้ทันสมัย เช่น ภาพถ่ายปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ การรักษาฟัน หมายเลขบัตรประจำตัวต่างๆ ควรมีลายพิมพ์นิ้มมือ ดีเอ็เอไว้ด้วยยิ่งดี เพื่อประโยชน์การยืนยันตัวบุคคล หรือพิสูจน์เอกลักษณ์เมื่อจำเป็น

พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวว่า นอกจากนี้ ทางศูนย์ยังเปิดช่องทางการรับและแจ้งข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ เรื่องคนหายเด็กหายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพียงกดถูกใจในเพจเฟซบุ๊ก “ศูนย์คนหายและศพนิรนาม ศบคน.”
กำลังโหลดความคิดเห็น