“รองฯ สมยศ” ถกเข้ม วางมาตรการแก้ไขปัญหารถสวมซาก กำหนดนิยาม “ซากรถ” ให้ชัดเจน กำหนดหลักเกณฑ์ขายซากรถยนต์ที่เสียหายโดยสิ้นเชิง ขายเฉพาะซากรถไม่ขายทะเบียน คาดโทษเต็นท์รถมือสองฝ่าฝืนทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ (23 ก.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ จักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปจร.ตร.) เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหารถสวมทะเบียน (สวมซาก) โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.), สมาคมประกันวินาศภัยไทย, สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย, กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อวางมาตรการในการแก้ไขร่วมกันอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยใช้เวลาการหารือกว่า 1 ชั่วโมง
พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการสรุปแนวทางการปฏิบัติ คือ ให้กรมการขนส่งทางบกจะมีการออกระเบียบ กฎกระทรวง หรือข้อบังคับในการจดทะเบียนและตรวจสภาพรถที่เกิดอุบัติเหตุเสียหายโดยสิ้นเชิงหรือรถที่ประมูลมาจากส่วนราชการหรือเอกชนเพื่อป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่บางนาย และจะมีการจัดตั้งศูนย์รับข้อมูลเพื่อดำเนินการกับการเกิดประสบอุบัติเหตุที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปได้ตรวจสอบและให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการเกี่ยวกับกฎหมาย ระเบียบและแนวทางการช่วยเหลือหรือเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ซื้อรถสวมซากมาโดยสุจริต ส่วนสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย ดำเนินการเกี่ยวกับระเบียบหรือข้อกำหนด ในการจำหน่ายรถเกิดอุบัติเหตุเสียหายโดยสิ้นเชิง เพื่อให้บริษัทประกันภัยต่างๆ ปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน
พล.ต.อ.สมยศกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้สมาคมประกันวินาศภัยไทยจะมีการออกหลักเกณฑ์การพิจารณารถที่เกิดอุบัติเหตุเสียหายโดยสิ้นเชิงของสมาคมประกันวินาศภัย กำหนดนิยามคำว่าซากให้ชัดเจน รวมทั้งหลักเกณฑ์การพิจารณาขายซากรถยนต์ที่เสียหายโดยสิ้นเชิงขายเฉพาะซากรถไม่ขายทะเบียน หรือขายทั้งซากทั้งทะเบียน ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย จะกลับไปศึกษาถึงแนวทางการปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องใดได้บ้าง
พล.ต.อ.สมยศกล่าวต่อว่า ทางสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มีกฎหมายชัดเจนว่า ผู้ที่ประกอบการที่เกี่ยวกับสินค้า ต้องมีการติดฉลากแสดงรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าต่างๆ เช่น รถยนต์ที่จำหน่ายตามเต็นท์รถยนต์มือสอง รถเหล่านั้นจะต้องมีการติดฉลากที่รถ พร้อมกับมีรายละเอียดข้อมูลว่ารถคันนั้นมีที่มาหรือที่ไปอย่างไร ทั้งนี้ กฎหมายของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคได้มีบทลงโทษสำหรับบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท กฎหมายดังกล่าวอยู่ใน มาตรา 52 ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค โดยต่อไปนี้ ศปจร.ตร.จะมีการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ต่อเต็นท์รถที่ไม่ให้ความร่วมมือกับการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเต็นท์รถต่างๆ ไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งนี้ตนมั่นใจว่าจะสามารถป้องกันได้ไม่มากก็น้อย เพราะเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีความเข้มแข็ง และพร้อมให้ความร่วมมือกับเรา และในส่วนของพนักงานนั้นหากพบว่ามีการกระทำผิดเองจะมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด