xs
xsm
sm
md
lg

จำคุก 2 ปี รอลงอาญา “เมธี” แถลง “ตู่-จตุพร” อมเงินบริจาคเสื้อแดง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายเมธี อมรวุฒิกุล อดีตแนวร่วม นปช. และอดีตดารานักแสดงชื่อดัง
ศาลจำคุก 2 ปี ปรับ 1 แสน “เมธี อมรวุฒิกุล” อดีตแนวร่วม นปช.กล่าวหา “จตุพร” ปธ.นปช. อมเงินบริจาคนเสื้อแดง 68 ล้าน ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6.6 หมื่น และให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี ส่วนสื่อมวลชนทั้ง “แนวหน้า-ASTVผู้จัดการ” ศาลยกฟ้อง ชี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง



ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 30 มิ.ย. 57 เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.3910/2553 ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเมธี อมรวุฒิกุล อดีตแนวร่วม นปช. และอดีตดารานักแสดงชื่อดัง, บริษัท นสพ.แนวหน้า จำกัด, นายโชคชัย สุมน, นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์, บริษัท เอ็นเอส ทีนิวส์ จำกัด, บริษัท เอเอสทีวีผู้จัดการ จำกัด และนายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน เป็นจำเลยที่ 1-7 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 53 นายเมธี แถลงข่าวที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ทำนองว่านายจตุพรอมเงินบริจาคของคนเสื้อแดงจำนวน 68 ล้านบาท และมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้หญิงบนชายหาดเมืองพัทยา รวมทั้งกล่าวหาว่านายจตุพรโทรศัพท์ขู่ฆ่าจำเลย

โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยนำสืบหักล้างแล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กล่าวข้อความหมิ่นประมาท โดยจำเลยที่ 7 นำข้อความไปตีพิมพ์เผยแพร่โดยมีการตัดต่อแต่งเติมข้อความทำให้โจทก์ ได้รับความเสียหาย แต่ทางนำสืบโจทก์ไม่ได้แสดงว่ามีการแต่งเติมข้อความส่วนใด อย่างไร จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดประมวลวิธีพิจารณาความอาญา

ส่วนข้อความซึ่งจำเลยที่ 1 กล่าวถึงโจทก์ตามฟ้องนั้น จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กล่าวจริง ทำนองว่า โจทก์ทำรุ่มร่ามกับหญิงบนชายหาด คนอื่นเขาเห็น และขอให้โจทก์หยุดพูด ซึ่งหากมีความกล้าให้มาเจอกับจำเลยตัวต่อตัวแบบลูกผู้ชายนั้น เห็นว่าคำว่า รุ่มร่าม หมายถึง ความไม่เรียบร้อย ไม่ได้แสดงว่าโจทก์มีพฤติการณ์เชิงชู้สาวกับหญิงอื่น และเมื่อพิจารณาข้อความอื่นๆ ประกอบ แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่ากล่าวท้าทายให้โจทก์มาต่อสู้ ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาททำให้โจทก์เสื่อมเสีย

แต่ข้อความซึ่งจำเลยที่ 1 กล่าวถึงเงินบริจาคคนเสื้อแดง 68 ล้านว่าเป็นเงินบริสุทธิ์ ต้องทำให้โปร่งใส ไม่ใช่รับรู้เพียงโจทก์และพวก 3 คน โดยให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อความโปร่งใสนั้น เป็นการกล่าวทำให้โจทก์เสียหายว่าอมเงินบริจาค ประเด็นนี้จำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบยืนยัน คงมีเพียงตัวจำเลยที่ 1 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ส่วนนายวัชระ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำเลยที่ 4 ซึ่งเขียนคอลัมน์ใน นสพ.แนวหน้า ศาลเห็นว่าได้คัดลอกคำสัมภาษณ์ทั้งหมดของนายเมธี จำเลยที่ 1 มาเผยแพร่ในคอลัมน์ โดยไม่ได้ตัดต่อ ท้ายบทความคงกล่าวสรุปเรื่องเพียงว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม จึงเป็นการติชมโดยสุจริต

ขณะที่ที่ทางนำสืบปรากฎเพียงว่า จำเลยที่ 2-6 ก็เป็นเพียงเจ้าของ นสพ.แนวหน้า และ นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน โดยไม่ปรากฏว่าสมคบร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการหมิ่นประมาทโจทก์

จึงพิพากษาว่า นายเมธี จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทฯ ให้จำคุก 2 ปี และปรับ 100,000 บาท คำรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 1 ปี 4 เดือน และปรับ 66,666 บาท ขณะที่โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพาษาใน นสพ.ไทยรัฐ และเดลินิวส์ 3 ครั้งโดยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย ส่วนจำเลยที่ 2-7 พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังนายเมธี อดีตแนวร่วม นปช. จำเลยกล่าวว่า จะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อ ส่วนตนเองเวลานี้ตนเองยังอยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเวลา 4 ปีแล้วตามโครงการคุ้มครองพยาน เนื่องจากตนเป็นพยานสำคัญในคดี 24 แกนนำ นปช.ก่อการร้าย โดยยอมรับว่าช่วงแรกก็ถูกข่มขู่คุกคามมาตลอด แต่ก็มีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอคอยป้องกัน ดูแลอยู่จึงไม่มีปัญหาอะไร และล่าสุดก็เพิ่งจะได้กลับไปเยี่ยมบ้านเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เชื่อว่าพยานหลักฐานที่ตนเองมี ทั้งด้านข้อมูลและภาพถ่ายจะเป็นพยานสำคัญในคดีได้

เมื่อถามว่า หลังจากแต่งตั้งอธิบดีดีเอสไอคนใหม่แล้วได้เรียกตัวไปให้ปากคำเพิ่มเติมคดีก่อการร้ายอีกหรือไม่ นายเมธีกล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยให้ข้อมูลดีเอสไอไปหมดแล้ว แต่หากดีเอสไอรื้อสำนวนขึ้นมาตรวจสอบใหม่ ตนก็คงต้องเข้าไปให้ข้อมูลอีกรอบ

เมื่อถามถึงกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจการบริหารประเทศ เพื่อยุติสถานการณ์รุนแรงในบ้านเมืองนั้น นายเมธีกล่าวว่า ตนเองก็เอาใจช่วยเพราะตอนนี้เศรษฐกิจแย่จริงๆ ก็อยากให้ คสช.ตั้งทีมบริหารเศรษฐกิจที่เก่งๆ หากเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นประชาชนก็จะอยู่ดีไปด้วย

ส่วนกรณีที่ คสช.จับกุมและตรวจยึดอาวุธสงครามได้จำนวนมากนั้นก็อาจจะมีการเชื่อมโยงกันกับเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งฝ่ายทหารก็คงจะมีข้อมูลเชิงลึกอยู่ ขณะที่ตนเองมีข้อมูลเพียงช่วงเหตุการณ์เมื่อปี 2553 ที่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ภายหลังถูกดีเอสไอจับกุมก็ไม่ได้ไปรับรู้ข้อมูลอีกเลย เพราะเป็นข้อกำหนดของการคุ้มครองพยาน


นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ บก.ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นสพ.เอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน
























กำลังโหลดความคิดเห็น