ศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นรอลงอาญา 2 ปี “จตุพร” หมิ่นฯ “อภิสิทธิ์” กล่าวหาสั่งฆ่าประชาชน
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 22 พ.ค.ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดำที่ อ.1008/2553 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา โดยโจทก์ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2553
โจทก์ฟ้องระบุความผิดว่า เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2553 - 15 ก.พ. 2553 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กปราศรัยหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ด้วยเครื่องกระจายเสียงต่อหน้าประชาชนกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับฟังและชมโทรทัศน์ช่องพีเพิล แชนแนล ที่มีการถ่ายทอดสดทั่วประเทศ ทำนองว่าโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งฆ่าประชาชนและหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังว่าโจทก์เป็นคนมีจิตใจโหดเหี้ยม สั่งฆ่าประชาชน หนีทหาร เหตุเกิดทั่วราชอาณาจักร จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326, 332 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ประเด็นที่จำเลยปราศรัยว่าโจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีที่สั่งปราบปราบและเข่นฆ่าประชาชน ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 7 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าใช้จ่าย
ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า จำเลยปราศรัยว่าโจทก์หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารและใช้เอกสารเท็จในการเข้าสมัครรับราชการในโรงเรียนนายร้อย ซึ่งจำเลยอ้างเอกสารทางราชการว่าโจทก์หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร หากโจทก์เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นแอบอ้าง โดยโจทก์ได้ยืนยันมีการผ่อนผันเกณฑ์ทหารแล้วก็สามารถให้มีการร้องเรียนตรวจสอบเอกสารเพื่อให้มีการแก้ไขเรื่องดังกล่าวให้ถูกต้อง แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินการดังกล่าวโดยทันที ขณะที่ช่วงเกิดเหตุจำเลยเป็นนักการเมือง จึงได้ตรวจสอบโจทก์ที่เป็นนักการเมืองเช่นกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (1) (3) อุทธรณ์โจทก์ประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนการปราศรัยเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2553 ซึ่งจำเลยได้ปราศรัยว่าอ้างว่ามีสายข่าว ระบุว่าโจทก์มีการวางแผนจัดตั้งมวลชนห้ำหั่นคนเสื้อแดง แต่ชั้นพิจารณาจำเลยก็ไม่มีแหล่งข่าวที่อ้างดังกล่าวมาเบิกความจึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่ามีการประชุมวางแผนดังกล่าวจริง การปราศรัยดังกล่าวทำให้โจทก์ต้องได้รับความเสียหาย จึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการกระจายเสียง ตามมาตรา 328 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอไม่ให้รอลงอาญาจำเลยนั้น ศาลเห็นว่าแม้โจทก์และจำเลยจะมีการฟ้องคดีกันถึง 5 สำนวน ทั้งในศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่เพราะทั้งสองก็เป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกันจึงย่อมเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขนาดทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียหรือเสียหายอย่างรุนแรง อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษารอลงอาญานั้นชอบแล้วพิพากษายืน
นายจตุพรกล่าวว่า รอปรึกษาทีมกฎหมายว่าจะต้องฎีกาอีกหรือไม่ เพราะคดีที่ถูกฟ้องดังกล่าวมีเหตุในการฟ้อง 2 เรื่องใน 1 สำนวน ศาลได้ยกฟ้องประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และยกฟ้องประเด็นใบ สด.41 แต่ให้ยืนรอลงอาญาการปราศรัยเรื่องการปราบปรามประชาชน