รายงานพิเศษ... โดย ธันย์ชนก กุลมา
มิจฉาชีพ! ภัยคุกคามสังคมที่ใช้อาชีพหากินไปในทางไม่สุจริต ส่งผลให้เพื่อนร่วมวิชาชีพต้องพลอยตกเป็นจำเลยของสังคม ประเภท “ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง” มิจฉาชีพในคราบไกด์ผี แท็กซี่เถื่อน ยังสร้างความเสื่อมเสียให้กับเศรษฐกิจชาติและการท่องเที่ยวไทย เพราะมักจะใช้ช่องโหว่ ทางกม.หลอกลวง เชิดเงิน ข่มขู่กรรโชกทรัพย์นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ โดยยึดหัวหาดแหล่งเศรษฐกิจ อาทิ ท่าอากาศยานขนาดใหญ่-สถานีขนส่ง ไม่เว้นแม้แต่ห้างสรรพสินค้าในเมืองแหล่งท่องเที่ยว
แม้ภาครัฐและเอกชน หน่วยงานเกี่ยวข้องพยายามจะออกกฎหมายเพื่อปิดช่องโหว่เพื่อป้องกันเหตุขบวนการต้มตุ๋น แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งวงจรร้ายเหล่านี้ให้สิ้นซากลงได้ เพราะมิจฉาชีพเหล่านี้ รู้ซึ้งดีว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับมันคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่จะฝ่าฝืนกฎหรือบทลงโทษแค่จับปรับ
ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินขนาดใหญ่ในลำดับต้นๆ ของอาเซียน ที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี จึงกลายเป็นขุมทรัพย์ของมิจฉาชีพเหล่านี้ ที่จ้องจะหารายได้เข้ากระเป๋าโดยไม่สนวิธีการ ความถูกต้องชั่วดี
จากการสำรวจในเบื้องต้นปัจจุบันไกด์ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายทั่วประเทศมีกว่า 53,000 คน แต่ที่ทำหน้าที่จริงๆ มีอยู่เพียง 10,000 คนเท่านั้น ส่งผลให้ไกด์อาชีพไกด์ที่ทำหน้าที่โดยสุจริตขาดแคลน จนเกิดปัญหาไกด์เถื่อนตามมา คาดว่าน่าจะราว 50-70% ของจำนวนไกด์แต่ละภาษา เช่น ไกด์ภาษาจีนประมาณ 3,000 คน ก็จะเป็นไกด์เถื่อนเกือบ 50%
ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลแขวงสมุทรปราการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และกรมคุมประพฤติ ได้จัดการประชุมหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring : EM ) มาใช้กับผู้กระทำผิด โดยเฉพาะมิจฉาชีพ ที่เข้ามาหาผลประโยชน์ ก่ออาชญากรรม หลอกลวง ฉ้อโกง อันก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือสร้างความเสียหายแก่นักท่องเที่ยวภายในบริเวณท่าอากาศสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เช่น กรณีไกด์ผีหรือแท็กซี่เถื่อน เป็นต้น โดยผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำ ฝ่าฝืนคำสั่งศาล และเข้าไปกระทำผิดในเขตที่ห้ามเข้า
การหารือในครั้งนี้ มีกำไลไฮเทคซึ่งเป็นเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์(Electronic Monitoring) หรือ EM ที่จะนำมาใช้กับผู้ที่กระทำความผิดภายในท่าอากาศยานสนามนานาชาติสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และจะเป็นโมลเดลนำร่องในการแก้ไขปัญหาดังที่กล่าวข้างต้น อันที่จะนำไปสู่การแก้ไข ฟื้นฟู ผู้กระทำความผิดด้านอื่นๆ อีกด้วย
สืบเนื่องจากศาลแขวงสมุทรปราการเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นภายในเขตท่าอากาศยานสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ และคดีส่วนใหญ่จะเป็นคดีลักทรัพย์ บุกรุก หลอกลวง ฉ้อโกงนักท่องเที่ยว โดยผู้กระทำความผิดบางรายทำตัวเป็นไกด์ผี หรือแท็กซี่เถื่อน เข้ามากระทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาศาลได้มีคำพิพากษาอย่างเด็ดขาดแก่ผู้กระทำความผิด
แต่ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษและห้ามไม่ให้เข้าไปในเขตกำหนด คือพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว แต่ผู้กระทำผิดยังคงฝ่าฝืน กระทำความผิดซ้ำซากโดยที่ไม่มีมาตรการใดตรวจสอบได้เลย
จากข้อมูลท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) พบว่า มีสถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดในฐานความผิดเข้ามารบกวนผู้โดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ หรือชักชวนผู้โดยสารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากท่าอากาศยานสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ หรือนำรถหรือยานพาหนะมาประกอบกิจการในลักษณะผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากการเปรียบเทียบปรับเพียงครั้งละ 500-1,000 บาท จึงทำให้ผู้ที่ถูกจับกุมส่วนมากเป็นผู้กระทำผิดรายเดิม
ดังนั้น การนำกำไล EM มาใช้ควบคุมผู้กระทำความผิดไม่ให้ฝ่าฝืนคำสั่งศาลเพื่อไปกระทำความผิดซ้ำ จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า กำไลไฮเทคจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ อันเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ โดยกรมคุมประพฤติพร้อมจะรองรับคำสั่งของศาลแขวงสมุทรปราการ และให้ความร่วมมือกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.เพื่อควบคุมและตรวจสอบผู้กระทำผิดให้ไม่ให้เข้ามากระทำผิดในพื้นที่ห้ามเข้า อาทิในคดีบุกรุกหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญ ศาลจะพิพากษาจำคุก 6 เดือน ถึง 1 ปี และเมื่อศาลแขวงสมุทรปราการสั่งคุมประพฤติผู้กระทำความผิดคดีก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือบุกรุกในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์แล้ว พนักงานคุมประพฤติจะติดตามผู้ถูกคุมประพฤติผ่านระบบจีพีเอส
หากผู้ถูกคุมประพฤติเข้าเขตพื้นที่สนามบินในระยะ 300 เมตร ระบบจะแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมกลางที่กรมคุมประพฤติ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดูแลระบบตลอด 24 ชั่งโมง และหากมีการทำลายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นี้ก็จะส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมเช่นกัน
จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของ ผอ.สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสมุทรปราการที่จะให้อาสาสมัครคุมประพฤติออกติดตามผู้กระทำผิด แล้วทำรายงานเสนอศาลพิจารณาต่อไป
ด้านนายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงสมุทรปราการ กล่าวถึงประโยชน์ของการคุมประพฤติด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ว่าจะสามารถทำให้ผู้ถูกคุมประพฤติไม่ต้องมาสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้นักท่องเที่ยวที่สนามบินอีก พร้อมเปิดโอกาสให้ไปประกอบวิชาชีพได้โดยไม่ลงโทษจำคุกทันที ส่วนกรณีหากมีสัญญาณเตือนว่าผู้ที่ถูกคุมประพฤติที่สวมใส่เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในพื้นที่หวงห้ามนั้น ศาลจะต้องไต่สวนถึงเหตุผลความจำเป็นที่ผู้ถูกคุมความประพฤติเข้ามาในบริเวณเขตต้องห้าม หากเข้ามาส่งครอบครัวไปต่างประเทศคงไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขศาล
นอกจากนี้ การใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ศาลจะพิจารณาตามพฤติการณ์เป็นรายคดีให้เหมาะสมกับแต่ละคน ซึ่ง ณ ขณะนี้มีคดีบุกรุกอยู่ในชั้นศาลอีกหลายสิบคดี อยู่ในชั้นอัยการอีก 30 กว่าเรื่อง
และในอนาคตหากการทดลองนำร่องได้ผลดีจะมีการขยายใช้เครื่องมือดังกล่าวคุมประพฤติผู้กระทำความผิดในคดีอัตราโทษไม่สูงในสนามบินอื่นๆ ต่อไป โดยเบื้องต้นได้มีการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลแล้วจำนวน 49 ราย (ข้อมูลบันทึกตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 27 มี.ค. 2557) แบ่งเป็นผู้ถูกคุมความประพฤติจำนวน 7 ราย ผู้พักการลงโทษ 28 ราย และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจำนวน 14 ราย
“กำไลไฮเทค” ที่ว่านี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดได้เป็นอย่างดี และจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คำสั่งศาลนั้นเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างน้อยเมื่อศาลมีบทลงโทษ กำหนดเขตพื้นที่แก่ผู้กระทำความผิดแล้วสวมเจ้ากำไลไฮเทคนี้ให้ผู้กระทำความผิด ก็สามารถควบคุมหรือหยุดยั้งวงจรผิดกฎหมายหรือวงจรที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นได้ อันจะนำไปสู่การบำบัด ฟื้นฟูผู้กระทำผิดไปด้วย