ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม กับน้องลูก คดีอุ้มฆ่าอัลรูไวลี เมื่อปี 2532 ชี้หลักฐานไม่เพียงพอ ญาติไม่ยืนยันว่าแหวนทองคำเป็นของผู้ตาย ด้าน พล.ต.ท.สมคิด ปฏิเสธให้สัมภาษณ์สื่อ เหตุติดเงื่อนไขของศาลในการประกันตัว ด้าน “ทนายสุวัตร” ย้ำคำพิพากษาถูกต้องชอบธรรมแล้ว เพราะ “พล.ต.ท.สมคิด” ไม่ผิด ถูกจงใจกลั่นแกล้ง
วันนี้ (31 มี.ค.) ศาลอาญา รัชดา พิพากษายกฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 และนางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลรูไวรี มารดานายมูฮัมเหม็ด อัลรูไวลี ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ, พ.ต.อ.สรรักษ์ จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน, พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี, พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง รวม 5 คน ในความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาฯ และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญา
สืบเนื่องจากกรณีที่นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย หายตัวไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2533
ศาลพิเคราะห์แล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยประกาศแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ รื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาใหม่ เมื่อได้พยานหลักฐานจากการเบิกความเพิ่มเติมของ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก นอกจากนี้ยังมีแหวนที่อ้างว่าเป็นของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี เป็นวัตถุพยาน จึงถือว่าหลักฐานดังกล่าวเป็นหลักฐานใหม่ ดีเอสไอ จึงมีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 1 และโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1
ปัญหาประการต่อมาจำเลยทั้งห้ามีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ในชั้นสืบพยานโจทก์ไม่ได้นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัยเข้ามาเบิกความเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสถามค้าน โจทก์อ้างส่งแต่เพียงบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของ พ.ต.ท.สุวิชชัยฉบับลงวันที่ 31 พ.ค. 2556 ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าที่ต้องรับฟังอย่างระมัดระวัง เมื่อศาลได้พิจารณาถึงพยานเหตุผลแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแหวน ที่โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าเป็นของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี การให้การตามบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัยที่ระบุว่าตนเองอยู่ร่วมในเหตุการณ์ที่จำเลยอุ้มนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ไปที่โรงแรมฉิมพลีย่านคลองตัน มีความแตกต่างและขัดแย้งในสาระสำคัญจากที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนเมื่อปี 2535 และ 2536 ว่าทราบเหตุการณ์มาจากคำบอกเล่าของจำเลยที่ 5 ขณะที่ตนอยู่ที่พัทยา จึงเป็นข้อพิรุธไม่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้พยานแวดล้อมที่เป็นพนักงานและหุ้นส่วนของโรงแรมฉิมพลีต่างไม่มีใครเบิกความยืนยันว่าเห็นนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี มาที่โรงแรมฉิมพลี ทั้งไม่เห็นจำเลยทั้งห้าร่วมกันนำตัวนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี มาที่โรงแรมฉิมพลีแต่อย่างใด
เมื่อคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์มีโทษถึงประหารชีวิต พยานหลักฐานโจทก์ต้องชัดแจ้งหนักแน่นมั่นคงโดยไม่มีข้อตำหนิใดๆ การที่โจทก์ไม่นำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัยมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งห้าเป็นผู้กระทำผิด เท่ากับโจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน ลำพังมีเพียงบันทึกถ้อยคำของ พ.ต.ท.สุวิชชัยเป็นพยานบอกเล่าและมีข้อพิรุธหลายประการดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงไม่น่าเชื่อถือกับพยานอื่นๆของโจทก์ ซึ่งเป็นพยานเหตุผลแวดล้อมกรณีที่ไม่มีการยืนยันว่ารู้เห็นการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้า จึงยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกระทำผิดจริง ประกอบกับจำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธมาตลอด คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ภายหลัง นายอาตีก ฆอนิม อัลรูไวลี น้องชายของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี บอกกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ว่ารู้สึกผิดหวังกับคำพิพากษามาก และเตรียมแถลงท่าทีที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เวลา 13.00 น.วันนี้
นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แถลงภายหลังมีคำพิพากษาถึงกรณีอุปทูตประเทศซาอุดีอาระเบีย ให้สัมภาษณ์ทำนองตั้งข้อสังเกตว่า มีการเปลี่ยนตัวองค์คณะผู้พิพากษาว่า ผู้พิพากษาที่เป็นเจ้าของสำนวนคือนายสมศักดิ์ ผลส่ง ได้นั่งพิจารณาคดีมาตั้งแต่ปี 2554 แตมีเรื่องถูกตั้งกรรมการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวขัดระเบียบ สมัยที่เป็นหัวหน้าศาลสระบุรี และบังเอิญทางคณะกรรมการตุลาการมาสั่งพักราชการในเดือน ม.ค.2557 ช่วงที่อยู่ระหว่างทำคำพิพากษาพอดี การสั่งพักราชการถือว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงต้องให้รองอธิบดีศาลอาญาไปเป็นองค์คณะและทำคำพิพากษาร่วมกับผู้พิพากษาอีกท่านที่เป็นเจ้าของสำนวนอยู่เดิม ตามกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 29 จึงขอยืนยันว่าการเปลี่ยนตัวผู้พิพากษามีกฎหมายรองรับ ไม่มีอะไรที่จะเป็นข้อสงสัย หรือทำไปโดยไม่มีเหตุผลหรือทำโดยฝ่าฝืนกฎหมาย แม้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่การพิจารณาของศาลจะต้องพิจารณาน้ำหนักพยานหลักฐานในสำนวนอย่างละเอียดรอบคอบ การเปลี่ยนตัวผู้พิพากษาครั้งนี้มีปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณา ทนายความโจทก์ร่วม สามารถคัดถ่ายอ้างอิงจากรายงานกระบวนพิจารณาได้ ดังนั้นศาลไม่มีหน้าที่แจ้งให้ญาติทราบ
ขณะที่ พล.ต.ท.สมคิดระบุด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดหรือความรู้สึกที่เกี่ยวข้องในคดีได้ เนื่องจากยังติดเงื่อนไขของศาลในการประกันตัว และหากมีโอกาสก็พร้อมจะเปิดเผยเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น และยังไม่โล่งใจเพราะคดีนี้มีรายละเอียดมาก
สำหรับคดีดังกล่าวมีการสืบสวนมานานกว่า 24 ปี และถือว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์ และมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย และซาอุดีอาระเบีย โดยนายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี นักธุรกิจมีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบีย มาเปิดบริษัททำธุรกิจจัดส่งแรงงานภายในประเทศไทยไปทำงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่หลังเกิดคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุดีอาระเบีย เมื่อปี 2533 นายอัลรูไวลี ก็หายตัวไป และจากการสืบสวนขณะนั้นพบว่า พลตำรวจโทสมคิด บุญถนอม พร้อมพวก ได้นำตัวนายอัลรูไวลีไปสอบเค้นข้อมูล ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนักการทูตซาอุฯหรือไม่ จนกระทั่งนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลีหายตัวไป
กระทั่งปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รื้อคดีขึ้นมาใหม่ โดยนำแหวนทองที่หัวแหวนมีรูปพระจันทร์เสี้ยว ซึ่งเป็นแหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวลี ที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก หนึ่งในทีม พล.ต.ท.สมคิด เก็บไว้ มามอบให้พนักงานสอบสวน และยื่นฟ้องคดีต่อศาลก่อนที่คดีจะหมดอายุความเพียง 1 เดือน
ทั้งนี้ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความให้สัมภาษณ์ภายหลังศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม พร้อมพวกเป็นจำเลย 1-5 ในคดีร่วมกันอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย ว่าถือว่ากระบวนการยุติธรรมไทยพิจารณาคดีนี้ได้อย่างยุติธรรมแล้ว เนื่องจาก พล.ต.ท.สมคิด และจำเลยที่เกี่ยวข้องได้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวเนื่องจากมีการพยายามกลั่นแกล้ง พล.ต.ท.สมคิด อย่างเต็มที่ต้องการจะให้ได้รับความผิดในคดีดังกล่าวให้ได้โดยการกล่าวหาจากพยานหลักฐานต่างๆ ที่พยายามสร้างขึ้นมา อาทิ คำให้การของ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งปัจจุบันถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ รวมถึงพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดขึ้นมา
นายสุวัตรกล่าวด้วยว่า เห็นพ้องด้วยในคำพิพากษาดังกล่าว เนื่องจากพยานหลักฐานที่นำสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยในชั้นศาล ชี้ให้ศาลเห็นได้ว่าจำเลยไม่น่าจะกระทำผิดเมื่อมีประเด็นข้อสงสัยจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย ก็ถือเป็นสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมแล้ว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจากพยานหลักฐานดังกล่าวอัยการจะยื่นอุทธรณ์คดีหรือไม่ นายสุวัตร กล่าวว่าทางอัยการก็คงต้องยื่นอุทธรณ์คดีต่อตามระเบียบ ไม่งั้นทางอัยการจะมีความผิด แต่เชื่อว่าสุดท้ายแล้วศาลอุทธรณ์ก็จะพิจารณาจากพยานหลักฐานในศาลชั้นต้นทั้งหมดซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นผลดีต่อ พล.ต.ท.สมคิดอย่างแน่นอน
มองว่าญาติของทางผู้เสียชีวิตจะร้องอุทธรณ์หรือไม่ นายสุวัตรกล่าวว่า คดีอาญาศาลพิพากษาจากพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดศาลยจะตัดสินให้เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายไม่ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่ที่พยานหลักฐานซึ่งศาลท่านจะเป็นผู้ตัดสินคดีเอง ผลสรุปก็คือ พล.ต.ท.สมคิดไม่มีความผิดศาลท่านจึงพิพากษายกฟ้อง ซึ่งญาติก็คงจะดำเนินการได้ตามช่องทางตามกฏหมายต่อไป ที่ผ่านมาก็มีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับการพิจารณาคดีหลายครั้งเกรงว่าจะไม่เกิดความยุติธรรม ซึ่งก็ได้รับการดำเนินการให้ด้วยความยุติธรรมมาโดยตลอด
เมื่อถามว่าคำตัดสินดังกล่าวจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียหรือไม่ นายสุวัตรกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นรัฐที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อประเทศซาอุฯ มีกระบวนการพิจารณาความอาญาภายในประเทศด้วยศาลสถิตยุติธรรม ดังนั้นทางซาอุฯ ไม่ควรก้าวล่วงในการพิจารณาของศาลไทยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายหลังศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ได้เดินออกมาพร้อมยิ้มแย้มด้วยความดีใจ พร้อมกับพูดสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวว่าดีใจ โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใดเนื่องจากติดในคำสั่งศาลที่ห้ามมิให้สัมภาษณ์ในคดีดังกล่าวต่อสื่อมวลชน จากคำร้องขอทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่ยื่นต่อศาลอาญาให้ออกคำสั่งดังกล่าวจนกว่าคดีความจะสิ้นสุดในกระบวนการยุติธรรม
นายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงกรณีเปลี่ยนผู้พิพากษาตัดสินคดี