ศาลแขวงสมุทรปราการ ร่วมกับ ทอท.และกรมคุมประพฤติ ประชุมหารรือการนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์ป้องกันภัยมิจฉาชีพรอบสนามบินสุวรรณภูมิ
ที่อาคารสำนักงานท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (28 มี.ค.) นายอวิรุทธ์ ชาญชัยกิตติกร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงสมุทรปราการ พร้อมด้วย น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายเกษม มูลจันทร์ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ พ.ต.ท.กัณต์ชวิศ โพธิประสิทธิ์ หัวหน้าพนักงานสอบสวน สภ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และนายประพันธ์ ปัทมกิจสกุล รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายการพาณิชย์) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ร่วมประชุมหารือถึงการนำเครื่องมือควบคุมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือ EM มาใช้กับผู้ที่กระทำความผิดภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โดยเฉพาะมิจฉาชีพที่เข้ามาหาผลประโยชน์ ก่ออาชญากรรม หลอกลวง ฉ้อโกง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารภายในท่าอากาศยาน เช่น ไกด์ผี หรือแท็กซี่เถื่อน เป็นต้น ซึ่งผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำ ฝ่าฝืนคำสั่งศาล และเข้าไปกระทำผิดในเขตที่ห้ามเข้า
นายอวิรุทธ์กล่าวว่า สืบเนื่องจากศาลแขวงสมุทรปราการเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นในเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งคดีส่วนใหญ่จะเป็นคดีลักทรัพย์ บุกรุก หลอกลวง ฉ้อโกงนักท่องเที่ยว โดยผู้กระทำความผิดบางรายทำตัวเป็นไกด์ผี หรือแท็กซี่เถื่อน เข้ามากระทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาพลักษณ์การท่องเที่ยว และที่ผ่านมาศาลได้มีคำพิพากษาอย่างเด็ดขาดแก่ผู้กระทำความผิด แต่ภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษและห้ามไม่ให้เข้าไปในเขตกำหนด คือ พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้ว ผู้กระทำผิดยังคงฝ่าฝืนกระทำความผิดซ้ำซากโดยที่ไม่มีมาตรการใดตรวจสอบได้เลย กระทั่งกรมคุมประพฤติมีนโยบายนำกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM มาใช้ ศาลแขวงสมุทรปราการเห็นว่า วิธีดังกล่าวจะทำให้การพิพากษามีการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านนายประพนธ์กล่าวว่า ทสภ.มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองหน่วยงานได้ให้ความสำคัญกับการดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ ทสภ. ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ควบคุมผู้กระทำความผิด โดยเฉพาะกลุ่มไกด์ผี และแท็กซี่เถื่อน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทสภ.พบว่ามีสถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดในฐานความผิดเข้ามารบกวนผู้โดยสารให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ หรือชักชวนผู้โดยสานโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ทสภ. หรือนำรถหรือยานภาหนะมาประกอบกิจการในลักษณะผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการเปรียบเทียบปรับเพียงครั้งละ 500-1,000 บาท จึงทำให้ผู้ที่ถูกจับกุมส่วนมากเป็นผู้กระทำผิดรายเดิม ดังนั้น การนำกำไล EM มาใช้ควบคุมผู้กระทำความผิดไม่ให้ฝ่าฝืนคำสั่งศาลเพื่อไปกระทำความผิดซ้ำ จึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ ทสภ.เปรียบเสมือนห้องรับแขกของประเทศที่ต้อบรับผู้โดยสารปีละกว่า 50 ล้านคน
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างชาติ อันเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ โดยกรมคุมประพฤติพร้อมที่จะรองรับคำสั่งของศาลแขวงสมุทรปราการ และให้ความร่วมมือกับ ทอท.ในการนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้กระทำความผิดที่ก่อความเดือดร้อนแก่นักท่องเที่ยวภายในท่าอากาศยาน
อย่างไรก็ตาม การนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในงานคุมประพฤตินับเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้กับผู้กระทำความผิด เพื่อให้การปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลสั่งเกิดเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กรมคุมประพฤติได้ริเริ่มจัดโครงการนำกำไลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับผู้กระทำความผิดในงานคุมประพฤติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จำนวน 200 เครื่อง โดยการเช่าซื้อ ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการติดตามด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมคุมประพฤติ และได้มีการติดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ให้กับผู้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลแล้วจำนวน 49 ราย (ข้อมูลบันทึกตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 27มี.ค. 2557) แบ่งเป็นผู้ถูกคุมความประพฤติจำนวน 7 ราย ผู้พักการลงโทษ 28 ราย และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจำนวน 14 ราย โดยศาลแขวงพระนครเหนือถือเป็นศาลแรกที่ได้มีการสั่งให้มีการติดตั้งเครื่อง EM ให้กับผู้ถูกคุมประพฤติ