ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุกคนละ 2 ปี ม็อบคาราวานคนจนปิดล้อมเนชั่นฯ ปี 2549 จำเลยยื่นหลักทรัพย์คนละ 1.5 แสนประกันตัว
วันนี้ (25 มี.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่พนักงานอัยการ และนายจักรกฤษ เพิ่มพูล พนักงานบริษัทเนชั่นฯ ผู้เสียหายร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายคำตา แคนบุญจันทร์ อดีตแกนนำสมัชชา เกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (เสียชีวิตแล้ว), นายอรรถฤทธิ์ สิงห์ลอ เลขาธิการคาราวานคนจน, นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน, นายธนวิชญ์ ปาละกะวงศ์ ณ อยุธยา แกนนำร่วมคาราวานคนจน, นายชินวัฒน์ หาบุญพาด แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายกสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท็กซี่ที่กรุงเทพฯ และนายสำเริง อดิษะ แกนนำร่วมคาราวานคนจน เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ และทรัพย์สิน หรือใช้กำลังประทุษร้ายให้จำยอมกระทำสิ่งใด โดยร่วมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป กระทำความผิด, กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกายเพื่อให้ผู้อื่นกระทำการใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309, 310 ทวิ ประกอบมาตรา 83 และ 91 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องกระจายเสียง พ.ศ. 2493
จากกรณีเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2549 จำเลยทั้ง 6 ร่วมกันประกาศให้ประชาชนราว 1,000-3,000 คนไปปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์ เรียกร้องให้ผู้บริหารหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ส่งตัวผู้สื่อข่าวที่รายงานข่าวซึ่งกลุ่มของจำเลยอ้างว่าหมิ่นเบื้องสูงออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 24 มี.ค. 2549 หากไม่ยินยอมจะปิดล้อมอาคารเนชั่น ทำให้พนักงานเนชั่นฯ และคนในอาคารกว่า 200 คนไม่สามารถเข้า-ออกได้ ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์สู้คดี และให้จำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบ เนื่องจากจำเลยที่ 1 เสียชีวิตแล้วด้วยโรคมะเร็งปอด เมื่อเดือน ก.ย.2555
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมาศ าลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรก ปรากฏว่าจำเลยที่ 2-3 และ 5-6 ไม่ได้เดินทางมาศาล ศาลจึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟังคำพิพากษา ซึ่งในวันนี้จำเลยที่ 2-3 และ 5-6 ก็ยังไม่ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาอีก โดยไม่มีการแจ้งเหตุให้ศาลทราบ คงมีเพียงนายธนวิชญ์ จำเลยที่ 4 และทนายความเท่านั้นที่มาฟังคำพิพากษา ศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ลับหลังจำเลยที่ 2-3 และ 5-6
โดยศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คดีมีโจทก์ร่วมและพนักงานบริษัทเนชั่น ฯ ที่เป็นผู้เสียหาย เบิกความถึงเหตุการณ์การปิดล้อมอาคาร ซึ่งเป็นการเบิกความถึงสิ่งที่พยานได้พบเห็นด้วยตนเอง ประกอบกับยังมีหลักฐานเป็นการบันทึกภาพเคลื่อนไหว ที่มีทั้งภาพและเสียงขณะพวกจำเลยกระทำการปิดล้อมอาคาร ส่วนที่พวกจำเลยอ้างว่าในการชุมนุมนั้นเพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหาร นสพ.คมชัดลึกนำตัวผู้สื่อข่าวออกมาพบยืนยันข้อเท็จจริงข่าวที่จำเลยอ้างว่าจะเป็นการหมิ่นเบื้องสูงนั้น เห็นว่า ในการแสดงออกความจงรักภักดี สามารถกระทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ไม่กระทำการที่จะละเมิดสิทธิบุคคลอื่น ซึ่งอาคารเนชั่นเป็นนิติบุคคลของเอกชน การที่พวกจำเลยชุมนุมมีลักษณะกดดันโดยทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายนั้น ไม่ได้เป็นการชุมนุมโดยสงบ อีกทั้งการแสดงความจงรักภักดี สามารถที่จะทำให้เป็นตัวอย่างที่ดีได้ด้วย ไม่ใช่กระทำการละเมิดต่อกฎหมายและบุคคลอื่น
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2- 6 จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงการลงโทษนั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์แล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ภายหลังฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว นายธนวิชญ์ จำเลยที่ 4 มอบให้ทนายความ ยื่นคำร้อง พร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด 150,000 บาทเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างต่อสู้คดีในชั้นฎีกา