อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยื่นฟ้องตุลาการศาล รธน.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีวินิจฉัยประเด็น ส.ส.เสนอแก้ไขที่มาของ ส.ว.ว่าขัดรัฐธรรมนูญ-ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาล, นายพิชัย เกียรติวินัยสกุล, นายพหล วรปัญญา, นายวรชัย เหมะ, นายสมคิด เชื้อคง ทั้งหมดเป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยและสมาชิกรัฐสภา ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจรูญ อินทจาร, นายจรัญ ภัคดีธนากุล, นายเฉลิมพล เอกอุรุ, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ, นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นจำเลยที่ 1-6 ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นตุลาการกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 157, 201 และ 202
โดยคำฟ้องระบุว่า โจทก์เป็นสมาชิกรัฐสภาได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2556 จำเลยทั้ง 6 ได้ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่รับคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม พร้อมพวก ที่กล่าวหาโจทก์กับพวกรวม 314 คนในฐานะสมาชิกรัฐสภา กระทำการขัดต่อศาลรัฐธรรมนูญรวม 4 ฉบับ กรณีที่ได้ร่วมกันเสนอญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องที่มาของ ส.ว. และประเด็นอื่นๆ โดยกล่าวหาว่าการกระทำของโจทก์เป็นการล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ต่อมาจำเลยทั้ง 6 ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ได้มีคำวินิจฉัยที่ 15-18/2556 โดยมีมติ 6 ต่อ 3 ว่า โจทก์กับพวกกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องทั้ง 4 ฉบับไว้พิจารณาวินิจฉัย เพราะผู้ร้องไม่ใช่อัยการสูงสุด รวมทั้งฝ่ายโจทก์สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติได้ การกระทำของจำเลยทั้ง 6 จึงเป็นการกระทำโดยมิชอบด้วยอำนาจและหน้าที่ และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
นายอำนวย คลังผา กล่าวว่า วันนี้ได้มายื่นฟ้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 6 คน สาเหตุเพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว. และในประเด็นอื่นๆของพวกตน เป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ล้มล้างระบอบการปกครอง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นเอกสิทธิ์ที่ผู้ใดจะฟ้องร้องมิได้ ซึ่งตนในฐานะ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งทั่วโลกก็ทำได้เหมือนกัน นอกจากนี้ได้มีกลุ่มบุคคลที่นำคำวินิจฉัยดังกล่าวไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. กล่าวหาว่าพวกตนกระทำผิดต่อกฎหมายอีกด้วย ซึ่งศาลได้รับคำฟ้องไว้เพื่อพิจารณาต่อไป