ดีเอสไอยื่นศาลอาญาออกหมายจับ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แกนนำ กปปส.กับพวกรวม 16 ราย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังไต่สวน"ธาริต" อธิบดีดีเอสไอเสร็จ ศาลนัดฟังคำสั่งพรุ่งนี้
วันนี้ (27 ม.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.ยุทธนา แพรดำ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ เดินทางมายื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอศาลอนุมัติหมายจับแกนนำ กปปส.จำนวน 16 ราย ประกอบด้วย 1. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ 2. นายสาธิต วงศ์หนองเตย 3. นายชุมพล จุลใส 4. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 5. นายอิสสระ สมชัย 6. นายวิทยา แก้วภราดัย 7. นายถาวร เสนเนียม 8. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 9. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ 10. น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก 11. นายนิติธร ล้ำเหลือ 12. นายอุทัย ยอดมณี 13. ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ 14. พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ 15. นายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี หรือนายอมร อมรรัตนานนท์ และ 16. นายกิตติชัย ใสสะอาด ในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 11 (1)
พ.ต.ท.ยุทธนาเปิดเผยสั้นๆ ว่า เบื้องต้นศาลได้เรียกนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ขึ้นเบิกความเพื่อไต่สวนกรณีการยื่นคำร้องขอออกหมายจับ 16 แกนนำ กปปส.ในช่วงบ่ายวันนี้
ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ได้เบิกความว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง (พ.ร.กฉุกเฉินฯ) ในเขตกรุงเทพและจังหวัดใกล้เคียง มีผลตั้งแต่ วันที่ 22 ม.ค.-22 มี.ค.2557 โดยในการออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการตามกฎหมายและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และในวันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ออกคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2557 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับคำร้องคือ ผู้ร้องเป็นกรรมการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศรส.) และเป็นผู้ปฏิบัติงานใน ศรส.
โดยเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2557 นายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนด สาระสำคัญให้พนักงานมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าเป็นผู้กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยต้องมาขอศาลอนุญาตก่อน ต่อมา พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในฐานะที่ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าศูนย์รักษาความสงบ ได้ออกประกาศ ศรส. ฉบับที่ 2 และ 3 /2557 ห้ามมิให้มีการชุมนุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผู้ร้องจึงมายื่นคำร้องต่อศาล เพื่อจับกุมบุคคลทั้ง 16 ราย ที่สงสัยว่าจะทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเป็นผู้ใช้ผู้โฆษณา เพื่อมิให้เกิดเหตุร้ายแรงหรือเพื่อความจำเป็นในการระงับเหตุร้ายแรง ซึ่งเป็นไปตามตามกฎหมาย มาตรา 2 และ มาตรา 1 (1) โดยคำร้องขอหมายจับสรุปว่า 1. มีการปิดกั้นการจราจร 2.บุกรุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง 3.บังคับขู่เข็ญขับไล่ข้าราชการให้ออกจากสถานที่ราชการ 4.นำโซ่มาคล้องประตูสถานที่ราชการต่างๆ 5.การปิดล้อมบ้านพัก เคหะสถานของบุคคลที่มีหน้าที่บริหารงานของประเทศ 6. การประกาศจะนำกำลังไปบังคับขู่เข็ญผู้บริหาร 7. ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป 8. ขัดขวางการใช้สิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งสามารถปิดกั้น จนไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งได้ 48 เขตเลือกตั้งในกทม. ซึ่งการกระทำของบุคคลทั้ง 16 ราย ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วก็ตาม และมีแนวโน้มว่าจะมีการฝ่าฝืนประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไปอีก โดยเฉพาะวันที่ 2 ก.พ.นี้ก็จะมีดำเนินการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ผู้ร้องไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับบุคคลทั้ง 16 รายมาก่อน
จากนั้นนายธาริต ได้นำ พ.ต.ท.เทพพิทักษ์ แสงหล้า พนักงานสอบสวน สน.พญาไท เบิกความปากที่สอง ย้ำถึงพฤติการณ์ของผู้ต้องสงสัยทั้ง 16 คนว่า ก่อนวันที่ 22 ม.ค.2557 ที่จะมีการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นายสุเทพแกนนำกปปส.ผ็ต้องสงสัยที่ 1 ได้ร่วมกับผู้ร่วมสงสัยที่ 2-16 โดยตกลง สมคบกันด้วยการป่าวประกาศบนเวทีปราศรัยและได้มีการมอบหมายให้ผ็ต้องสงสัยแต่ละคนเป็นแกนนำแต่ละเวที ซึ่งได้มีการประกาศขับไล่ข่มขู่ข้าราชการให้ออกจากสถานที่ราชการและปิดสถานที่ราชการ โดยนำโซ่คล้องประตูล็อกกุญแจและขู่ตัดน้ำตัดไฟ ซึ่งพฤติการณ์ดังกล่าวน่าจะทำให้เกิดเป็นสถานการณ์รุนแรง โดยเมื่อวันที่ 25 ม.ค.2557 ยังได้มีการประกาศบนเวทีซึ่งมีการถ่ายทอดผ่าน โทรทัศน์ดาวเทียมช่องบลูสกายและสื่ออื่น ซึ่งต่อมาวันที่ 26 ม.ค.ก็ได้มีการไปปิดหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ กทม.และมีการประกาศขู่ว่าจะไม่ให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.นี้ซึ่งพยานเชื่อว่าน่าจะกระทำได้เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีการประกาศแล้ว ผู้ต้องสงสัยก็สามารถที่จะดำเนินการได้ตามที่ประกาศไว้จริง อย่างไรก็ตามพยานไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ต้องสงสัยมาก่อน ซึ่งพยานเป็นข้าราชการประจำปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น
ทั้งนี้ภายหลังไต่สวนฝ่ายผู้ร้องเสร็จแล้ว ศาลจึงนัดฟังคำสั่งในวันที่ 28 ม.ค.2557 เวลา 15.00 น.
นายธาริต เปิดเผยภายหลังว่า การยื่นขอออกหมายจับในครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อน โดยเป็นการขอออกหมายจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีขั้นตอนที่แตกต่างกัน สามารถควบคุมตัวได้ 30 วัน และการปฏิบัติหน้าที่ในครั้งนี้ ยืนยันว่ากระทำในฐานะเจ้าพนักงานตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันพรุ่งนี้ สำหรับหมายจับในข้อหากบฏก็ยังต้องดำเนินการต่อไป แต่จะต้องดำเนินการตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อน ส่วนคดีเดิมค่อยดำเนินการทีหลังก็ไม่เสียหาย
ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความกลุ่มกปปส. กล่าวว่า สำหรับแนวทางคำสั่งของศาลในวันพรุ่งนี้ คาดว่ามีอยู่ 2 แนวทาง คือ ยกคำร้อง เนื่องจากมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่แล้ว หรือ แกนนำบางคนก็มีหมายจับอยู่แล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ดำเนินการจับกุม ทั้งนี้ตนตั้งข้อสังเกตว่าการที่นายธาริต มาขอหมายจับซ้ำในครั้งนี้ เพราะว่าหากจับตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ถึง 7 วัน แต่ควบคุมต่อได้ 30 วัน และจะต้องคุมขังที่สถานที่พิเศษซึ่งอาจจะเป็นที่ไหนก็ได้ แต่หากจับกุมตาม ป.วิ อาญา จะควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เพียงแค่ 48 ชั่วโมงเท่านั้น ทั้งนี้ตนได้เตรียมยื่นฟ้องนายธาริต ต่อศาลอาญา ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีอายัดเงินในบัญชีของแกนนำกปปส. ในวันที่ 30 ม.ค. นี้ เวลา 10.00 น.